รัฐสภา 19 ก.ย.-“ณัฐพงษ์” สส.ประชาชน จี้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วมให้เร็วกว่ากรอบเวลาที่ตั้งไว้ 90 วัน บอกควรจ่ายก่อน 10,000 บาท พร้อมเสนอมาตรการเที่ยวเมืองน้ำลด นำมาลดหย่อนภาษี ด้าน “ธีรรัตน์” แจงแทน นายกฯ รัฐบาลเร่งเยียวยาทุกด้านเร็วที่สุด ส่วน “Cell Broadcast Service” แจ้งเตือนภัย ใช้ได้กลางปี 68
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสด นายกรัฐมนตรี เรื่องแนวทางการเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มาตอบกระทู้แทน และได้มอบหมายต่อให้นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มาตอบแทน
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่าจากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ผ่านมา นอกจากลงไปเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ยังรับฟังปัญหารวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ส่งผ่านไปยังรัฐบาลในหลายประเด็น ทั้งเรื่องที่รัฐบาลมีมาตรการยกเว้นค่าน้ำและค่าไฟในเดือนกันยายน และลดค่าน้ำค่าไฟ 30% ในเดือนตุลาคมนั้น แต่ประชาชนอยากได้ขั้นต่ำ 3 เดือนขึ้นไป จึงฝากไปยังรัฐบาลว่าเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะขยายกรอบตรงนี้ รวมถึงมาตรการส่งงบประมาณลงไปชดเชยให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขาดรายได้จากการจัดเก็บค่าน้ำประปาตรงนี้หรือไม่
นายณัฐพงษ์ ยังเสนอเรื่องการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาค่าซ่อมบ้าน ที่รัฐบาลมีจ่ายเงินสูงสุดถึง 230,000 บาท ถ้าประเมินว่าบ้านเสียหายเกิน 70% และอีกส่วนจะจ่ายเงินชดเชยเยียวยา ถ้าท่วม 7-30 วัน จะจ่าย 5,000 บาท หรือถ้าท่วม 60 วันขึ้นไป จะจ่าย 9,000 บาท ซึ่งปัญหาเงินก้อนนี้มีความยุ่งยากซับซ้อน และมีกรอบระยะเวลาภายใน 90 วัน จึงอยากเร่งรัดให้รัฐบาลจ่ายเงินดังกล่าวให้เร็วขึ้น พร้อมเสนอว่า ถ้าพบว่าบ้านหลังใดอยู่ในพื้นที่เหตุอุทกภัยให้จ่ายทันที 10,000 บาทก่อน จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจความเสียหายทีหลังและจ่ายตามจริง
นอกจากนี้ ยังเห็นว่ารัฐบาลสามารถพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการจ่ายเงินเยียวยา โดยอาศัยแผนที่น้ำท่วมจากจิสด้าและข้อมูลทะเบียนบ้าน เพื่อให้ประชาชนกดรับสิทธิ์เงินเยียวยา 10,000 บาททันทีในแอพทางรัฐได้ และขอให้รัฐบาลเจรจาธนาคารทุกภาคส่วนให้พักชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ยให้กับประชาชน และเสนอให้ขยายกรอบวงเงินการเยียวยาแก่เกษตรกร และรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เข้าไปฟื้นฟูทรัพย์สินต่างๆในพื้นที่ และให้ท้องถิ่นสามารถจัดทำนโยบายจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนโดยตรงอีกทางหนึ่ง นอกจากต้องรอรับเงินจากรัฐบาลส่วนกลางเท่านั้น และเสนอให้มีมาตรการ ลดหย่อนภาษี จากการท่องเที่ยวเมืองน้ำลด
”จากการที่รัฐบาลมีมาตรการท่องเที่ยวเมืองรองนำไปลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะออกมาตรการท่องเที่ยวเมืองน้ำลด หลังจากที่ อ.แม่สาย ได้ฟื้นฟูเรียบร้อยแล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลับคืนมา และเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวไปจับจ่ายใช้สอยว่าหากท่องเที่ยวเมืองน้ำลด สามารถลดหย่อนภาษีได้อีก 15,000 บาท ถือเป็นมาตรการที่น่าสนใจ“ นายณัฐพงษ์ กล่าว
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องมาตรการค่าน้ำค่าไฟจะมีการปรับตามสถานการณ์ความเป็นจริงได้ ถ้าหากหน้างานดูแล้ว ยังมีความรุนแรงและประชาชนยังฟื้นตัวไม่ได้ ก็สามารถปรับมาตรการต่อๆไปได้ ขอให้ประชาชนสบายใจว่ารัฐบาลจะแบ่งเบาภาระประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนน้ำที่จะต้องใช้ในการบริโภคและใช้ในการชำระล้างโคลนดินต่างๆ ทางการประปาส่วนภูมิภาคได้ลงไปในพื้นที่ เพื่อผลิตน้ำเพื่อบริโภคให้ประชาชนแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และบริการน้ำที่ใช้ชำระโคลนเช่นกัน
“เรามีความคิดเห็นตรงกันว่าความช่วยเหลือทุกรูปแบบและทุกด้าน คือสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงรวมถึงในอนาคตไม่ว่าจะเป็น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ต่อจากนี้เราจะมีมาตรการตัวอื่นมารองรับสนับสนุน แบ่งเบาภาระของประชาชนให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด“ นางสาวธีรรัตน์ กล่าว
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า ส่วนจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อไปช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้หรือไม่นั้น เบื้องต้นแต่ละจังหวัดจะมีเงินสำรองการใช้จ่ายในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 20 ล้านบาท ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันท่วงที จึงอยากให้สบายใจได้ว่ารัฐบาลทำอย่างเต็มที่และทำอย่างเร็วที่สุด ซึ่งกระบวนการจ่ายเงินเยียวยาในกรอบ 90 วัน ยืนยันว่าจะทำให้ได้เร็วกว่านั้นแน่นอน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลอยู่แล้ว เมื่อได้ตรวจสอบสิทธิ์อย่างถูกต้อง เงินก็สามารถถึงมือประชาชนได้ทันที ซึ่งนายกรัฐมนตรีกังวลในเรื่องนี้ อยากให้การเยียวยาประชาชนเป็นไปโดยทันการและให้ ประชาชนพึงพอใจอย่างสูงสุดเช่นเดียวกัน
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาแอปพลิเคชันทางรัฐ ให้เป็นซุปเปอร์แอป และการที่ให้ประชาชนลงทะเบียนไม่ใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว แต่สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่นั้นมาช่วยเหลือประชาชนอย่างเร็วที่สุด ถือเป็นความมุ่งมั่นและตั้งใจที่อยากให้ฐานข้อมูลประชากรอยู่ในส่วนนี้ได้ครบ 100% คิดว่าสามารถพัฒนาระบบร่วมกันให้ใช้ประโยชน์ได้ในสถานการณ์นี้ด้วย
”ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยจะมีการสนับสนุนงบประมาณและปัจจัยในการผลิตลงไปถึงประชาชน ในการสนับสนุนพันธุ์พืชไร่พืชสวน จากเหตุน้ำท่วมใหญ่บางครอบครัวอาจจะหมดตัวและไม่เหลืออะไร มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องเข้าไปสนับสนุน และยังมีอีกหลายมาตรการจากหลายกระทรวง“ นายสาวธีรรัตน์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ ยังถามถึงมาตรการระยะกลางและระยะยาว ในการลดความเสี่ยงและป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการรับมือกับพายุซูริกในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งคิดว่าต้องมีการจัดทำข้อมูลเปิดด้านน้ำ ทั้งน้ำฝน ว่ามีการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบชลมาตรที่ทั่วถึงหรือไม่ , น้ำท่า ที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลน้ำทั้งระบบ และ น้ำเทศ ว่ารัฐบาลได้วางแนวทางการเจรจาพหุภาคีระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่อยู่รอบแม่น้ำโขง ในการบูรณาการข้อมูลน้ำร่วมกันเพื่อการจัดการน้ำทั้งระบบในประเทศกลุ่มนี้แล้วหรือไม่ รวมถึง อยากให้มีการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพื่อให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางรัฐบาล ได้ดำเนินการในเรื่องของการเตือนภัยกับประชาชน ยกตัวอย่าง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ มีเครื่องมือครบ และมีสถานีวัดน้ำ ทั้งน้ำฝนที่ตกตกลงมาและน้ำสะสมในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง จึงอยากให้ทุกคนส่งต่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นของหน่วยงานรัฐ ในการแจ้งเตือนได้ทันท่วงที ขณะที่ในช่วงกลางปี 2568 ประชาชนจะได้ใช้ ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน” หรือ “Cell Broadcast” ในการเตือนภัยให้ประชาชน หวังว่าการให้ความชัดเจนในการเตือนภัยที่กำลังหาแนวทางร่วมกัน จะประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุด.-315.-สำนักข่าวไทย