พรรคพลังประชารัฐ 17 ก.ย.- พปชร. เปิดฉากฝ่ายค้านนอกสภาฯ “สนธิรัตน์-อุตตม-ธีระชัย” ชำแหละ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็นพายุหมุนหรือฝนหลงฤดู เย้ย สุดท้ายก็เลือกแจกเป็นเงินสด ลั่น ไม่อยากเห็นโครงการเรือธง กลายเป็นโครงการเรือล่ม
ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานยุทธศาสตร์ด้านวิชาการ ร่วมแถลงข่าวตรวจสอบนโยบายรัฐบาล แถลงต่อรัฐสภา
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้าศูนย์นโยบายและวิชาการ กล่าวชำแหละนโยบายรัฐบาลในฐานะฝ่ายค้าน ว่า วันนี้ดิจิทัลวอลเล็ตผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว และถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล สิ่งที่เราไม่สบายใจคือโครงการนี้ เดินอยู่บนความไม่แน่นอนของรัฐบาล ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการหลายครั้ง จนสุดท้ายตอนนี้มีการแจกเป็นเงินสด ซึ่งแตกต่างกับที่หาเสียงไว้ว่าเป็นดิจิทัลวอลเล็ต มีคำถามตามมา ว่า เรื่องนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่สิ่งที่เราเห็นด้วยมาตลอด คือการแจกให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับที่พรรคพลังประชารัฐ ใช้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 มันชัดเจนว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกลายเป็นโครงสร้างหลัก และหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่า จะให้ความสำคัญกับร้านธงฟ้าประชารัฐด้วย
นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวต่อว่า เรื่องที่รัฐบาลหวัง ว่า จะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ผลักดัน GDP ได้ 0.35 % ต่อปี คำถามคือ มันจะเป็นพายุหมุน ที่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปหรือไม่ หรือสุดท้ายมันจะเป็นแค่ฝนหลงฤดู สิ่งที่เราจะตรวจสอบต่อไป คือ โครงการนี้ลดการเติบโตในด้านอื่นๆหรือไม่
“สุดท้ายด้วยความเป็นห่วงในโครงการนี้ มีผู้ลงทะเบียนถึง 36 ล้านคน รัฐบาลสัญญาว่าจะดำเนินการให้แน่นอน แต่มันกลับมีเครื่องหมายคำถาม ว่าจะทำอย่างไร ทำวิธีใดและสำคัญที่สุดงบประมาณมันจะมาจากไหน พรรคพลังประชารัฐอยากเห็น โครงการเรือธงของรัฐบาลเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ได้ ไม่อยากเห็นโครงการเรือธงกลายเป็นโครงการเรือล่ม ออกสตาร์ทแค่ปากอ่าว แต่ไปได้ไม่ไกล” นายสนธิรัตน์ กล่าว
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงโครงการกองทุนรวมวายุภักษ์ ของกระทรวงการคลัง ว่า เป็นโครงการที่มีปัญหา เฉือดเนื้อคนจนไปแปะให้คนรวย เพราะทรัพย์สินของรัฐทั้งหมดเป็นของประชาชนทั้งประเทศ แต่นำไปอุดหนุนให้กับคนที่จะมาร่วมลงทุน แค่หลักพันหลักหมื่น ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ไม่ถูกต้อง ในการที่ขยายขอบเขต กองทุนวายุภักษ์ จากที่เป็นการระดมทุนในปี 2546 สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นการระดมมาเพื่อใช้ในกิจการภาครัฐ แต่ครั้งนี้นอกจากเป็นการเอามาลงในหุ้นตลาดหลักทรัพย์ ยังนำไปลงทุนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ ทั้งในเรื่องทองคำ น้ำมันดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นกู้ขยะ หากอยู่ในวงการพระ อาจเรียกได้ว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์” เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ตนมองว่าเกินเลย
นอกจากนี้ หนังสือเชื้อชวนให้ลงทุน แม้จะมีการบอกว่าไม่รับประกัน แต่คนที่อ่านกฎหมายเป็นจะบอกได้เลยว่า มีผลของการประกัน ทั้งในเรื่องของผลตอบแทน และการประกันเงินต้นโดยอัตโนมัติ เพราะกองทุนนี้มีกำไรสะสมอยู่แล้ว 1.4 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน เพราะกำไรสะสม 1.4 แสนล้าน และทรัพย์สินที่มีอยู่ 3.5 แสนล้านเป็นของภาครัฐ ที่กระทรวงการคลังถือแทนประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งถ้าเป็นเงินข้าราชการ กบข. ก็ถือหลักผลประโยชน์แทนข้าราชการที่เป็นสมาชิก
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ซึ่งคนที่ดำเนินการอ้างว่า ทำได้เนื่องจากมีมติ ครม. กำกับเอาไว้ ซึ่งตนกังวลแทนเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ที่เป็นลูกน้องเก่าของตน ต้องเข้าใจว่า กบข. หรือกองทุนประกันสังคม เขามีกฎหมายเฉพาะ แต่มติ ครม. ไม่มีอำนาจเหมือนทั้ง 2 กองทุนข้างต้นที่มีเงิน ซึ่งจะต้องไปขออนุญาตจากทาง กบข. และกองทุนประกันสังคม เนื่องจากเป็นหน่วยลงทุนรายใหญ่ ครม.ไม่มีอำนาจดำเนินการนอกเหนือจากกฎหมายที่ตั้ง 2 กองทุนนี้
ขณะเดียวกัน เงินของ กบข. และกองทุนประกันสังคม ที่อยู่ในกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็นเงินของแผ่นดิน การใช้เงินแผ่นดินจะต้องทำเป็นกฎหมาย อยู่ดีๆจะนำเงินไปมอบให้กับผู้จัดการกองทุน ไปแจก หรือนำไปอุดหนุน หรือชดเชยเพื่อคุ้มครองเงินต้น ถือว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การใช้เงินแผ่นดินมีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ที่จะต้องออกเป็นกฎหมายผ่านรัฐสภาเท่านั้น
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาทั้งหมดได้ทำเป็นจดหมายเปิดผนึก ส่งถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้รับทราบไปแล้วถึง 4 ฉบับ หากเห็นด้วยกับตนว่ามีปัญหา เสี่ยงกับการผิดกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจะต้องมีปฏิกิริยา ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมกันนี้ยังทำจดหมายอย่างเป็นทางการแจ้งไปยังประธานคณะกรรมการ กบข. และเลขาธิการกองทุนประกันสังคม ให้รับทราบแล้ว ทุกคนมีหน้าที่ต้องดูแลตัวเอง
ด้าน นายอุตตม สาวนายน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับรัฐบาลที่กำหนดการแก้หนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรกของคณะรัฐมนตรี แต่ก็มีข้อเสนอแนะว่า การแก้หนี้ให้บรรลุผลนั้น ต้องทำครบวงจร เช่น รัฐบาลต้องผนึกธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินเอกชน/รัฐ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยืนในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อน เติมกำลังให้ประชาชนและเศรษฐกิจ สร้างอนาคตประเทศ ทั้งนี้ โครงการที่ทำต้องเข้าถึงประชาชนฐานรากทั่วทั้งประเทศ บริการเสมอภาคเป็นธรรม พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาร่วมขับเคลื่อน
“รัฐมนตรีคลัง ควรหารือกับ ธปท. ถึงแนวทางการลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) เหลือ 0.23% ต่อ 6 เดือน ชั่วคราว 5 ปี เพื่อนำเงินที่ประหยัดได้ไปลดยอดหนี้ (haircut) สำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน และต้องเจรจาให้ธนาคารต้องนำกำไรสะสมมาร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 25% ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ อันเป็นการร่วมมือกันแก้ปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชน” นายอุตตม กล่าว
พลตำรวจโท ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค กล่าวว่า ถ้าพายุหมุนสามลูกหมุนได้สามรอบจริงๆ เหมือนที่รัฐบาลได้โฆษณาไว้ตั้งแต่แรก ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์และมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาล 3 บริษัทหลักๆ มีอักษรย่อแต่ละบริษัทคือ B M X ซึ่งรายละเอียดต้องติดตามในสัปดาห์ต่อไป.-315 สำนักข่าวไทย