ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบ 16 ก.ย.- “นายกฯ” นั่งหัวโต๊ะประชุมด่วนตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มอบ “ภูมิธรรม” เป็นประธาน สั่งทบทวนกรอบการเยียวยาให้ตรงจุด มองพิจารณาจำนวนวันไม่สอดคล้องความเสียหาย ชี้ควรนำหลักวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม , นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, พลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด , พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีปลัดกระทรวงฯ, อธิบดีกรมต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวช่วงต้นของการประชุม ว่า วันนี้ขออนุญาตเรียกประชุมด่วน ซึ่งขอพูดถึงเรื่องเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ที่ตนได้เดินทางไปอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้ไปพูดคุยกับประชาชน และได้เห็นภาพจริง ๆ และได้รับรายงานจากบุคคลที่ที่อยู่ในพื้นที่ที่เข้าไปดูแลได้รับทราบถึงปัญหา ต้องขอขอบคุณประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเชียงราย ที่เจอปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ที่หนักหนา แต่พอไปถึงพบเห็นรอยยิ้ม และมีกำลังใจที่ดี ที่ดีได้ส่งมอบให้กับคณะทำงาน ก็ขอให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ทำงานทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจิตอาสา มูลนิธิต่าง ๆ ที่เข้าไปช่วยด้วยความเต็มใจเป็นจำนวนมาก รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคง ที่เข้าดูแลพื้นที่ก่อนหน้านี้ ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้เยอะมาก
ทั้งนี้ได้มีการจัดหาแหล่งที่อยู่ให้กับประชาชนชั่วคราว ส่วนเรื่องการเตือนภัยและมาตรการเยียวยาเร่งด่วน ตนอยากให้เร่งด่วนเรื่องของการเยียวยา อยากให้เยียวยาให้ตรงจุด เพราะมีหลายอย่างถูกตีกรอบของการเยียวยาเอาไว้ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมากกว่านั้น เช่น การพูดถึงจำนวนวันที่เสียหาย เช่นที่อำเภอแม่สาย เกิดความเสียหาย 3 วันซึ่งดูน้อย แต่ความจริงเกิดความเสียหายมาก เพราะฉะนั้นการตัดสินใจจำนวนวันจะไม่พอดีกับความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงอยากให้พิจารณาเรื่องกรอบระยะเวลาและอาจจะต้องมีการนำเรื่องของกระแสน้ำ หรือแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถพิสูจน์ได้มาพิจารณาร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง สถานการณ์น้ำในจุดต่าง ๆ ที่เกิดน้ำท่วมขณะนี้ มีเรื่องที่น่ากังวลใจนิดหน่อย โดยฝนที่ตกในประเทศไทยไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งทางอำเภอแม่สาย ปริมานน้ำก็ลดลง 30-40 เซนติเมตร ส่วนทางจังหวัดหนองคายก็ลดลง 50 เซนติเมตร ซึ่งยังมีความโชคดีที่ไม่เจอเรื่องของดินโคนถล่มในพื้นที่หนองคาย แต่เป็นเรื่องของน้ำท่วมโดยเฉพาะ จึงต้องซักซ้อมให้ดีในเรื่องของการเตือนภัย
“ในเรื่องของระบบการเตือนภัยจะต้องมีการพิจารณา และทำเรื่องของกรอบงบประมาณอีกครั้งนึง และ Cell Broadcasts ให้การเตือนภัยเกิดผล อย่างจริงจัง ซึ่งรายละเอียดจะให้ทางปลัดกระทรวงมหาดไทยได้รายงาน” นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า การประชุมวันนี้อยากจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม หรือ ศปภ. โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกลาโหม เป็นผู้อำนวยการร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และยุติธรรมมากที่สุด เพื่อจะได้ทราบสถานการณ์ตรงกัน และสามารถกำหนดแผนการดำเนินงานได้เลย .-316 -สำนักข่าวไทย