รัฐสภา 16 ก.ย.-“อนุทิน” รมว.มหาดไทย ยันงบฯ มีเพียงพอช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอุทกภัยพื้นที่ภาคเหนือ ยอมรับมหาดไทยมีอำนาจในการบรรเทาภัยพิบัติ ขณะที่อำนาจในการป้องกันเป็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ย้ำต้องพูดคุยและเพิ่มเติมสิ่งที่ขาด เพื่อจัดทำงบฯ ใหม่ในอนาคต
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยว่า ขณะนี้มีความพร้อมทั้งการช่วยเหลือเรื่องอาหาร เวชภัณฑ์ ที่พัก กำลังคน เครื่องมือช่วยบรรเทาความเดือดร้อน โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย ที่มีปัญหาเรื่องดินโคลน ซึ่งต้องเร่งทำความสะอาดก่อนแห้งและกลายเป็นดินเหนียว จนทำให้ยากลำบากต่อการแก้ไขปัญหามากขึ้น ซึ่งในวันนี้ ( 16 ก.ย. ) นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ในเวลา 14.00 น. หลังก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงมหาดไทย เร่งสำรวจความเดือดร้อนของประชาชน นำเสนอบัญชีรายครัวเรือนว่าจะได้รับเม็ดเงินเยียวยาอย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ให้ช่วยเหลือเยียวยาโดยไม่เรียกเก็บค่าไฟ ค่าน้ำ หากไม่สามารถทำได้ ก็ขอให้ลดอัตราค่าน้ำค่าไฟลง พร้อมเปิดเผยว่าในวันนี้จะมีการประชุมของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และคาดว่าการประปาส่วนภูมิภาคจะมีการประชุมเร็วๆนี้
ขณะที่การป้องกันนั้น นายอนุทิน ยอมรับว่า อำนาจของกระทรวงมหาดไทยมีจำกัด เนื่องจากตามกฏหมาย ให้อำนาจในการวางแผนป้องกันไว้ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องมาพูดคุยกันว่า ในงบประมาณใหม่ปี 2569 จำเป็นต้องอัดฉีดงบประมาณให้ สทนช. หรือเพิ่มบุคลากร และองคาพยพอย่างไร ย้ำว่างานของกระทรวงมหาดไทย เน้นหนักไปที่การบรรเทา เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวทำมาก่อนรัฐบาลปัจจุบัน และรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพราะได้ตัดอำนาจในการป้องกันของกระทรวงมหาดไทย จึงต้องหาหรือว่า สทนช. ยังขาดอะไร เพราะมั่นใจว่าไม่ขาดเรื่องความร่วมมือจากทุกหน่วยงานอย่างแน่นอน
ส่วนทำงานของกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศพื้นที่เป็นภัยพิบัติ ก็จะมีงบประมาณทดรองราชการเพื่อเยียวยาชาวบ้านในเบื้องต้น หากไม่เพียงพอ สามารถทำเรื่องขยายให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบได้ พร้อมยืนยันว่าการเตือนภัยไม่มีปัญหา เพราะมีหลายรูปแบบ ต้องดูที่หน้างาน เช่นการช่วยเหลือดูแล อพยพเคลื่อนย้ายประชาชนจากพื้นที่เสี่ยง ที่ได้จัดตั้งศูนย์พักพิง จัดเตรียมอาหารการกิน จัดเวรรักษาความปลอดภัยบ้านเรือนประชาชนที่อพยพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และไม่ต้องเป็นห่วงทรัพย์สินที่อยู่ในบ้านของตัวเอง
นายอนุทิน ยังย้ำถึงงบประมาณที่ใช้บริหารสถานการณ์และเยียวยาประชาชนว่ามีเพียงพออยู่แล้ว ถ้างบประมาณสำหรับภัยพิบัติ รวมทั้งงบกลาง ที่นายกรัฐมนตรีสามารถใช้ดุลพินิจ อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หากจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน พร้อมยืนยันว่างบประมาณมีเพียงพอ แต่จากนี้ต้องหาวิธีการ วางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก เนื่องจากมีทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกที่ต้องพูดคุยเจรจากับต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง.-315.-สำนักข่าวไทย