“ณัฐชา” จี้เยียวยาชาวบ้านได้รับผลกระทบ “ปลาหมอคางดำ”

รัฐสภา 29 ส.ค.-“ณัฐชา” ชี้มาตรการ 7 ข้อของรัฐบาล ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ จี้ “รักษาการนายกฯ” อย่ามัวแต่วุ่นวายกับการกรอกประวัติรัฐมนตรี ช่วยมากรอกข้อมูลให้ชาวบ้านที่ต้องได้รับการช่วยเหลือด้วย

นายณัฐชา บุญอินไชยสวัสดิ์ สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย กล่าวถึงการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในช่วงเวลาที่ผ่านมา ว่าแม้ขณะนึ้จะมีกระแสที่ลดลงไป แต่สถานการณ์ยังไม่ได้เบาบางลง ประกอบกับการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ตรงและไม่ตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน ซึ่งทำให้ปัญหาไม่ลดน้อยลงเลย


นายณัฐชา กล่าวต่อว่า วันนี้คณะอนุฯ จึงได้เชิญอธิบดีกรมประมงมาให้ข้อมูล แต่อธิบดีฯ ไม่ได้มาเข้าร่วม ส่งเพียงเอกสารที่มีการเผยแพร่ตามสื่ออยู่แล้ว คือ 7 มาตรการ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี สั่งการลงไป คือมาตรการต่างๆ ที่ใช้งบประมาณ 450 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณที่รับซื้อเพียงส่วนเดียว แต่จำนวนอีก 400 ล้านบาท เป็นงบประมาณของการฟื้นฟู การทำความเข้าใจ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ที่ไม่ตอบโจทย์ และไม่ตรงความต้องการ

นายณัฐชา ยกตัวอย่าง มาตรการการรับซื้อซึ่งอยู่ในมาตรการที่หนึ่ง มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทนั้น มีการรับซื้อ 5,000,000 กิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPF มีมาตรการรับซื้อจำนวน 2,000,000 กิโลกรัม รวมกันแล้วเกือบ 7,000,000 กิโลกรัม แต่สถานการณ์ในพื้นที่ทั้ง 19 จังหวัด ยังคงไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร และ 7,000,000 กิโลกรัมนี้ อาจจะมีคนที่ขายได้เพียงบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น


นายณัฐชา ระบุว่า ขณะนี้มีประกาศของกรมประมงที่เพิ่มเติมมา ใน 19 จังหวัดมีเกษตรกรเดือดร้อนกว่า 50,000 รายที่ลงทะเบียนแล้ว แต่มาตรการที่หน่วยงานภาครัฐทำทั้งหมดล้วนสวนทางกับความต้องการ และผิดที่ผิดทางเป็นอย่างมาก

นายณัฐชา ยังยกตัวอย่าง การประกาศรับซื้อ ที่มีงบประมาณ 50 ล้านบาท แต่เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ก็กลับประกาศว่า งบประมาณถูกใช้เกือบหมดแล้ว แต่ความจริงการซื้อขายของชาวบ้านแทบจะยังไม่ได้จับออกพื้นที่เลย ส่วนมาตรการจับปลาหมอข้างดำออกจากแหล่งน้ำ ธรรมชาติ และซื้อปลาผู้ล่าไปปล่อยอย่างต่อเนื่อง ก็คือการซื้อปลาอื่นไปปล่อยอีก 50 ล้านบาท และการนำไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น ปุ๋ยหรือปลาป่น ก็มีเอกชนดำเนินการอยู่แล้ว จึงอยากจะถามว่า ได้มีการนับรวมส่วนนี้เข้าไปด้วยหรือไม่

สำหรับการวิจัย ก็มีการของบประมาณไปกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกรมประมง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะทำไปเพื่ออะไร หรือจะวิจัยไปเพื่ออะไร จะเป็นเรื่องปลาหมัน ก็ไม่น่าใช่


ส่วนงบประมาณการฟื้นฟู 100 กว่าล้านบาทนั้น คือการให้นำปลาท้องถิ่นจำนวน 5,000,000 ตัวไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นในเดือน ม.ค. ปี 68 ตนคิดว่าทั้งไทม์ไลน์ที่ไม่ชัดเจน และงบประมาณที่ไม่ชอบมาพากล สวนทางกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน จึงอาจสงสัยได้ว่าจะมีกระบวนการหาประโยชน์จากการแพร่ระบาดของของปลาหมอคางดำ ซึ่งทำให้เรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แล้วในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ก็จะเห็น สส.มาตามเรื่องนี้กันอีกรอบหนึ่ง

นายณัฐชา ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ทำนี้ไม่สอดคล้องกับปัญหา โดยยกตัวอย่าง โครงการที่กรมประมงทำงานร่วมกับ CPF ในการปล่อยปลาเวลา 09.00 น. แต่มีการจับปลาในเวลา 09.45 น. ซึ่งระยะห่างระหว่างสองจุดนั้นไม่ได้ไกลกัน และมีการทำอย่างนี้ทุกวัน ปล่อยแล้วจับ ไม่มีใครกล้าประกาศว่า ปลาที่จับได้เป็นปลาที่ปล่อยไปหรือไม่ เพราะเป็นความรับผิดชอบขององค์กรท่านเอง ซึ่งตนก็คิดว่า เขาอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญ หรือไม่ชำนาญการเฉพาะกิจ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้

นายณัฐชา ย้ำว่า ระยะเวลาผ่านไปขนาดนี้ และการที่คณะอนุฯ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไปแล้ว แต่รัฐบาลกลับปล่อยมาได้ขนาดนี้ ทำให้ต้องคิดว่า นี่คือความตั้งใจให้สถานการณ์ซับซ้อน งบประมาณเป็นหมัน เพื่อให้ต่อเนื่องไปในปี 68 ใช้ความทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชน และปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นที่มาของการใช้งบประมาณ และได้รับผลประโยชน์จากการใช้งบประมาณเองหรือไม่

ส่วนการที่บอกว่า จะประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ก็ยังไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือ ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร วันนี้ก็ยังเงียบสงบ วันนี้มีแต่การประกาศว่า ได้งบแล้ว แต่มติ ครม.บรรทัดสุดท้าย ระบุว่า เป็นการใช้งบประมาณของกรมประมง ซึ่งหมายความว่า 450 ล้านบาทนี้ไม่ใช่งบกลาง ตนขอถามว่าจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ เพราะงบกรมประมงเองมีน้อย แต่กลับไปใช้งบนี้ ไม่ใช้งบกลาง

“อย่ามัวแต่วุ่นวายกับการกรอกประวัติรัฐมนตรี ช่วยมากรอกข้อมูลให้ชาวบ้านที่ต้องได้รับการช่วยเหลือด้วย” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา เปิดเผยความคืบหน้าในการฟ้องร้องว่า ขณะนี้มีการดำเนินการเตรียมคำฟ้องทั้งเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งทางสภาทนายความเอง ก็ได้มีบอกต่อที่ประชุมว่า มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วทั้งหมด 300 คน และยังจะมีเพิ่มเติมอีก ซึ่งจะมีการฟ้องในวันที่ 5 ก.ย.นี้ แต่ในรายละเอียด ขอให้ดำเนินการเรียบร้อยก่อน แล้วจึงแจ้งอีกครั้ง

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม จะส่งผลกระทบกับการแพร่ระบาดหรือไม่นั้น นายณัฐชา มองว่า สถานการณ์ขณะนี้ เรียกว่าวิกฤติขั้นรุนแรงกว่าหลายเท่าที่ผ่านมา ดังนั้น น้ำท่วมอาจทำให้การเดินทางของปลาหมอคางดำชุดนี้ไปได้ไกลมากขึ้น ตนคิดว่าหลังสถานการณ์น้ำท่วมจะเห็น พื้นที่ที่ไม่ติดแนวชายฝั่งได้รับผลกระทบด้วย.-314.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

น้ำท่วม…น้ำตาชาวปัตตานี

น้ำท่วมรอบนี้ทำให้ชาวปัตตานีจำนวนมากต้องเสียน้ำตา เพราะสร้างความเสียหายให้กับผู้คนหลายแสนคน เป็นมหาอุทกภัย ที่ชาวปัตตานียากจะลืมเลือน

วิสามัญมือยิงประธานสภา อบต.โพนจาน ยิงสู้ จนท.

วิสามัญมือยิงประธานสภา อบต.โพนจาน จ.นครพนม หลังหนีข้ามมา จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ปิดล้อมเกลี้ยกล่อมให้วางอาวุธ แต่ไม่สำเร็จ คนร้ายยิงต่อสู้

รมว.กต.กำชับเมียนมาเร่งปล่อย 4 คนไทย-เรือไทย

รมว.ต่างประเทศ เผยภายหลังอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก เชิญทูตเมียนมาเข้าพบ ขอเร่งปล่อย 4 คนไทย-เรือไทยที่อยู่ในการควบคุมโดยเร็ว กำชับทางการเมียนมาติดตามเรื่องนี้ด้วย

อธิบดีกรมราชทัณฑ์เผย “บุญทรง” เข้าเกณฑ์พักโทษ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผย “บุญทรง” เข้าเกณฑ์พักโทษ ติดกำไลอีเอ็ม เงื่อนไขทั่วไป ห้ามไปต่างประเทศ ห้ามเคลื่อนไหวการเมือง