อาคารชินวัตร 3 (23 ส.ค.) – นายกรัฐมนตรี พบภาคเอกชน รับฟังข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย-จีน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย ที่ประสานขอเข้าพบเพื่อหารือและเสนอแนะถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
โดยนางสาวแพทองธาร กล่าวว่า วันนี้เป็นการรับฟังการแบ่งปันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ จากผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อต้องการการพัฒนามากขึ้น ตนเองได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่สามารถทำงานหรือสั่งการได้ จึงเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น และชี้ให้เห็นว่ากำลังเจอปัญหาอย่างไร และมีอะไรอยากจะแนะนำรัฐบาล เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้างสำหรับภาคเอกชน เพราะภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างมั่นคง ขอบคุณทุกท่านที่มาเสนอแนะ และยินดีที่จะรับฟังทุกท่าน
ทั้งนี้ ข้อเสนอของภาคเอกชน เช่น เรื่องของกฎหมายถือเป็นประเด็นที่สำคัญ กฎหมายบางอย่างใช้มาแล้ว 30 กว่าปี ไม่เหมาะสมต่อสภาวะปัจจุบัน หากผ่านกระบวนการต่างๆและได้เข้าไปทำงาน จะเร่งเข้าไปบริหารจัดการ หากผ่านกระบวนการและตั้งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว จะหาเจ้าภาพที่จะมาคุยในแต่ละหัวข้อหรือประเด็นที่ภาคเอกชนเสนอในวันนี้ และประสานงานต่อด้วยตัวเอง รวมทั้งจะติดตามงานด้วย
“ในยุคไทยรักไทย จะมีการพูดคุยในทุกอุตสาหกรรมและคุยทุกสัปดาห์ ซึ่งทำให้ได้รู้ปัญหา รู้ประเด็นของทุกอุตสาหกรรมจริงๆและช่วยเป็นประโยชน์ต่อการบริหารบ้านเมือง และต้องขอโอกาส และอาจขอรบกวนเวลาทุกท่านค่ะ” นางสาวแพทองธาร ระบุ
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลนี้จะต้องทำงานกับใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพราะเครื่องจักรที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจคือภาคเอกชน โดยข้อเสนอของภาคเอกชนในวันนี้ใกล้เคียงกับที่เราประเมินไว้ และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องนี้
นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยทำการค้าขายกับจีนในระยะยาว ตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของรัฐบาลรักษาการจะมีการส่งเสริมการใช้ Local content เพื่อส่งออกสินค้าไทยไปตลาดโลกให้เพิ่มขึ้น ส่วนข้อเสนอการปรับเพิ่มการใช้สินค้า Made in Thailand ในการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มขึ้นจะรับไปพิจารณา โดยจะต้องดำเนินการแบบรักษาสมดุลการค้าการลงทุนระหว่างกันกับประเทศคู่ค้า เพื่อไม่ให้เป็นการกีดกันทางการค้า
ส่วนปัญหาสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าไทย เป็นปัญหาที่รัฐบาลมองเห็น และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดยอาจต้องรักษาสมดุลการค้าการลงทุนของไทยและจีน รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่กระทบผู้ประกอบการไทย จะมีมาตรการดูแลอย่างรอบด้านเพื่อให้การค้าขายของไทยและจีนสามารถทำการค้าขายได้ในระยะยาว ในช่วงรัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการผ่านหน่วยงานมาตรฐานของรัฐ เช่น กรมศุลกากร ตรวจเข้มการสินค้านำเข้า หน่วยงาน มอก. หรือ อย.ตรวจมาตรฐานสินค้า ถึงโกดังและตรวจจับสินค้าได้เพิ่มขึ้น ถือเป็นหนึ่งในเป็นกลไกปกป้องเอกชนคนไทย รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลการผลิตสินค้าจากจีนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งระบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จช่วงปีหน้า พร้อมกับการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งผ่านการเชื่อมต่อระบบการคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศ
สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชน เริ่มจาก นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อเสนอทางเศรษฐกิจเร่งด่วนของหอการค้าไทย ต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศใน 3 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่
1.การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ โดยในระยะสั้น ได้แก่ การกระจายงบประมาณ, การกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังประชาชน 3. กลุ่ม ทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ และกลุ่มมีกำลังซื้อสูง ,มาตรการช่วยเหลือและเยียวยา เช่น ลดค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ตรึงราคาสินค้าจำเป็น,การกระจายอำนาจ และปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่ ในระยะยาว เช่น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน,การวัดผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจตั้ง KPI เช่นการกำหนดจีดีพีที่ 3-5%
2.การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs ด้วยกลยุทธ์ (ผลักดัน – ตั้งรับ – จับมือ) ‘การผลักดัน’ คือ ช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เช่น การสร้างนโยบาย E-Commerce ของชาติ ‘การตั้งรับ’ คือ มาตรการปกป้องสินค้า ไม่แข่งขันด้านราคา เน้นบังคับใช้ Local content
3.การวางยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า ประเทศไทย แม้มีการขาดดุลการค้าจากจีน ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าปุ๋ยเพื่อการเกษตร ซึ่งถือเป็นสินค้าทุน ที่เกษตรกรไทยนำมาเพิ่มมูลค่าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งจีนยังเป็นตลาดสินค้าเกษตรแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดของไทย ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำสินค้าไทยไปโรดโชว์ที่จีน สร้างมูลค่าเข้าประเทศหลายพันล้านบาท ขอให้เดินหน้าต่อไป
ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มี 5 ข้อเสนอเร่งด่วน และ 3 ข้อเสนอระยะกลาง-ยาว โดย 5 ข้อเสนอเร่งด่วน ได้แก่ 1.การปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและการทุ่มตลาด 2.การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) 3.การลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอาทิ ต้นทุนพลังงาน ต้นทุน แรงงาน เป็นต้น 4.การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME 5.การส่งเสริมการค้าชายแดน และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ .-316 สำนักข่าวไทย