รัฐสภา 16 ส.ค.-สภาฯ ฉลุย 319 เสียง แถมไทยสร้างไทยอีก 6 เสียง ดัน ‘อุ๊งอิ๊งค์’ เป็นนายกฯ คนที่ 31 ของประเทศไทย ที่อายุน้อยสุด ด้าน สส.เพื่อไทย ปรบมือแสดงความยินดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่1) เป็นพิเศษ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยนายวันมูหะมัด ได้ชี้แจงขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการโหวตเลือกนายกฯ โดยใช้วิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคลตามลำดับรายชื่อ สส. เพื่อลงคะแนน
จากนั้นในเวลา 10.11 น. นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยมีผู้รับรองถูกต้อง ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ได้รับการเสนอชื่อเพียงรายเดียว ไม่มีบุคคลอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯจากพรรคอื่น
แต่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ลุกขึ้นเสนอให้มีการเปิดอภิปรายผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ แต่ทางฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วย ควรให้มีการโหวตลงคะแนนเลย เนื่องจากไม่เป็นไปตามระเบียบวาระ อาทิ นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมฯ ดังนั้นควรให้ขั้นตอนกระบวนการการเลือกนายกฯแล้วเสร็จ จนมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แล้วค่อยใช้โอกาสนั้นอภิปรายถึงคุณสมบัติ
ขณะที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า วิป 2 ฝ่ายตกลงกันก่อนหน้านี้ว่าจะอภิปรายในเชิงเสนอแนะ หรือแนะนำเท่านั้น โดยขอให้ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ดังนั้นหากจะมีการอภิปราย ต้องอยู่ในประเด็น หากก้าวก่ายไปเรื่องอื่น อาจมีการประท้วง จึงอยากให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประณีประนอม
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะฝ่ายค้าน ยืนยันว่า จะไม่อภิปรายถึงคุณสมบัติต่างๆของนายกฯ แต่จะขออภิปรายเพียงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีนายกฯมาบริหารประเทศเท่านั้น
เมื่อมีความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการให้มีการอภิปราย และไม่ต้องการให้เปิดอภิปราย ควรดำเนินการตามระเบียบวาระ เข้าสู่การโหวตลงคะแนน ทางประธานสภาฯ ชี้แจงว่า จะไม่ใช่สิทธิ์ชี้ขาดว่าจะเลือกแบบใด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชุมของสภาฯ
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ มีผู้รับรองถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ถือว่าเป็นญัตติแล้ว จึงสามารถอภิปรายได้ ถือเป็นหลักทั่วไปที่ทำมาตลอดในสภาฯ
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า ไม่ใช่ญัตติ เนื่องจากการความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอตามรัฐธรมนูญ ไม่ใช่เป็นการเสนอตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ จึงไม่จำเป็นต้องอภิปราย ดังนั้นการวินิจฉัยของประธานที่ประชุมครั้งนี้ จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป
ทั้งนี้เมื่อมีการเปิดให้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานที่ประชุม เห็นควรให้เป็นไปตามที่วิป2ฝ่ายตกลงกันก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดการประณีประนอม คือเปิดให้มีการอภิปรายชี้แนะ เป็นเวลาไม่เกิน20นาที โดยไม่มีการอภิปรายแตะไปถึงคุณสมบัติ เนื่องจากสภาฯไม่มีหน้าที่ตัดสินเรื่องนี้ได้ เพราะมีองค์กรดำเนินการอยู่
จากนั้นได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย โดยนายฐากร ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรกว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เรากำลังขาดนายกฯ ที่ต้องหลุดจากตำแหน่งไป กราบเรียนว่าวันนี้การเมืองของเราเข้าอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าทางตันของประเทศ จึงเสนอวาระเร่งด่วนคัดเลือกนายกฯ เพื่อเข้ามาบริหารประเทศต่อไป สภาฯวันนี้เป็นครั้งแรกในรอบ10ปีที่สภาฯจะมีสิทธิ์ใช้อำนาจเลือกนายกฯด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านวุฒิสภา เดินทางมาถึงจุดขาลงด้านเศรษฐกิจ วันนี้ภูเขาอีกลูกหนึ่ง คือภูเขาทางการเมืองเข้ามาทับซ้อน จนประชาชนจะทนอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกร้องจากนายกฯ จะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยขบวนการนิติสงครามที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนชั้นนำ แม้ว่า สส.จะลงมติอย่างไร แต่ภารกิจของสภาฯและนายกฯคนต่อไปคือ การแก้ปัญหาประเทศที่ต้นตอ ถ้านับเฉพาะคดียุบพรรคก็มีหลายครั้ง หลายคนล้วนเป็นเหยื่อการตัดสินทางการเมืองที่ให้อำนาจล้นเกินแก่ศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องวางอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รุกล้ำฝ่ายนิติบัญญัติจนล้นเกิน เชื่อว่าทุกคนเห็นปัญหาเช่นเดียวกันว่า หลายคนไม่สมควรถูกประหารชีวิตทางการเมือง มาตรฐานทางจริยธรรมควรเป็นเงื่อนไข กติกาที่พวกเราตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่กติกาที่ให้องค์กรตุลาการมาวินิจฉัยโดยใช้มาตรวัดทางกฎหมาย โดยมาตรวัดมาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องที่แต่ละคนเห็นไม่เหมือนกัน ต้องใช้เสียงประชาชนมาตัดสิน 7 ปีที่ผ่านมาที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซ้ำร้ายยังถูกไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งจากกล่มคนชั้นนำทุบทำลายสส.ที่ได้รับอำนาจสูงสุดจากประชชน โจทย์ใหญ่คือสร้างเสถียรภาพให้ประเทศ ไม่ให้เกิดสุญญากาศการเมือง ภารกิจสำคัญสส.คือ เชิญชวนสานต่อภารกิจ ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐญธรรมนูญ เพื่อแก้อำนาจศาล รธน. องค์กรอิสระ เป็นไปตามหลักสากล ปรับกติกาพรรคการเมืองให้เกิดขึ้นง่าย ตายยาก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ระบอบประชาธิปไตย การลงมติของพรรคประชาชนจะไม่เห็นชอบการเลือกนายกฯ เพราะต้องสงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม
จากนั้นที่ประชุมลงมติรายบุคคล และมีมติให้ความเห็นชอบ ด้วยคะแนน 319 ต่อ 145 คะแนนงดออกเสียง 27 เสียง
ถือว่าเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง เห็นชอบให้ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่31 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยมี สส.จากพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นปรบมือแสดงความยินดีกับ น.ส.แพทองธาร จากนั้นประธานที่ประชุม ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 12.35 น. ใช้เวลาในกระบวนการลงคะแนนทั้งสิ้นกว่า 2 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างการนับคะแนนปรากฏว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ ไม่ขานชื่อ เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามคนใกล้ชิดแจ้งว่าป่วยและลาการประชุมแล้ว ขณะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชารัฐ ไม่ได้ลงมติ เนื่อจากติดงานต้อนรับนักกีฬาโอลิมปิก
ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย สส. ทั้ง 6 คน นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด นางรำพูน ตันติวณิชชานนท์ สส.อุบลราชธานี และนายฐากร ตันฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ นางสุภาพร สลับศรี สส.ยโสธร นายหรั่ง ธุระพล สส.อุดรธานี และนายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส.อุดรธานี ลงคะแนนเห็นชอบสวนทางกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ลงมติไม่เห็นชอบและงดออกเสียงทั้งพรรค ซึ่งพรรคประชาชนลงมติไม่เห็นชอบ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์งดออกเสียง.-312.-สำนักข่าวไทย