รัฐสภา 14 ส.ค.-พรรคประชาชน แถลงไม่เห็นด้วย ศาลรัฐธรรมนูญฟัน “เศรษฐา” พ้นนายกฯ ชี้เรื่องจริยธรรม ควรให้ประชาชนตัดสิน ถึงเวลาแก้ รธน. คุมอำนาจศาล รธน.-องค์กรอิสระ ให้อยู่ในขอบเขต
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงจุดยืนและมุมมองของพรรคประชาชน กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า ขอแสดงความกังวลและไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ พรรคประชาชนยืนยันว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรมีจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต แต่จริยธรรมต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน ดังนั้นตราบใดที่การกระทำเป็นการทุจริตอย่างโจ่งแจ้งตามที่มีบทลงโทษทางกฎหมายครอบคลุมไว้ชัดเจนอยู่แล้ว จะเห็นว่าเรื่องจริยธรรมนั้นควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน พรรคประชาชนจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ผูกขาดการตีความเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ตามดุลพินิจของตนเองจนเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน อย่างกรณีของนายเศรษฐา ในวันนี้
พรรคประชาชน มีความเชื่อว่าเหตุการณ์ในวันนี้ จะทำให้สังคมทุกฝ่าย และพรรคการเมืองทุกพรรค เห็นชัดขึ้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และความจำเป็นในการทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมถึงการกำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางการเมือง ในส่วนของ สส.พรรคประชาชน ทุกคนจะเดินหน้าทำงานต่อในฐานะสมาชิกสภาผู้ราษฎร เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต่อไป
เมื่อถามว่า มีความกังวลในเรื่องของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่คดียุบก้าวไกล จนมาถึงคดีดังกล่าวของนายเศรษฐา นายพริษฐ์ กล่าวว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ ถึงจะเป็นคนละกรณีกัน ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามมากขึ้น ถึงการทบทวนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ หากยังมีอยู่ จะทำอย่างไรให้อำนาจมีความเหมาะสม ให้อยู่ในขอบเขต หรือจะทำอย่างไรให้มีกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระ ที่มีความยึดโยงกับประชาชน รวมถึงออกแบบกฎกติกาและการตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอิสระด้วยเช่นกัน ซึ่งในเชิงรูปธรรมการจะมีบทสนทนาในการทบทวนเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระนั้น ต้องทำผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้สังคมเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากขึ้น และทางพรรคประชาชนหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะถูกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของประชาชน
เมื่อถามว่า ทางพรรคมีการพูดคุยในการโหวตนายกฯ ในครั้งถัดไป หรือไม่ เนื่องจากทางพรรคประชาชนไม่มีแคนดิเดตนายกฯ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในขั้นตอนถัดไปเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะมีการเสนอบุคคลใดมาดำรงตำแหน่งนายกฯ และในส่วนของพรรคประชาชนเราทำหน้าที่เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน จากการยุบพรรคก้าวไกล ในเชิงนิตินัยทางพรรคประชาชนไม่มีแคนดิเดตนายกฯ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่พรรคประชาชน ก็จะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุล รวมถึงผลักดันวาระที่เราคิดว่ามีความสำคัญกับประชาชน
เมื่อถามว่า มีการพูดคุยเรื่องงูเห่าที่อาจจะถูกในการโหวตนายกฯ ครั้งถัดไปหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนมีความเชื่อมั่นว่า สส.ของพรรค ทั้ง 143 คน จะเดินหน้าทำงานต่อเป็นเอกภาพ ที่สอดรับกับอุดมการและจุดยืนของพรรคประชาชน ที่สืบเนื่องมาจากพรรคก้าวไกล และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นอดีต สส.ก้าวไกล ที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง มาสมัครสมาชิกพรรคประชาชนอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นเอกภาพด้วยเวลาอันรวดเร็ว ไม่มีใครมีอาการลังเล ก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ประจักษ์แล้วว่า สส.ของพรรคประชาชน จะร่วมกันเดินหน้าอย่างเป็นเอกภาพ
เมื่อถามว่า มีการประเมินหรือไม่ว่าจะมีการยุบสภาฯ เนื่องจาก นายกฯ รักษาการ มีอำนาจในการยุบสภาฯ และพรรคประชาชนจะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ เนื่องจากสังกัดพรรคไม่ถึง 30 วัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรามีการวิเคราะห์ทุกฉากทัศน์ ซึ่งในคำถามเป็นแค่ 1 ในฉากทัศน์ และไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้น
ส่วนนายกฯ คนต่อไปควรจะมาจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายพริษฐ์ ระบุว่า ต้องเป็นบทสนทนาที่พรรคร่วมรัฐบาลคุยกัน แต่ไม่ว่าจะเสนอชื่อใครก็ตาม ทางพรรคประชาชนก็ทำหน้าที่ต่อไปในพรรคแกนนำฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบรัฐบาลต่อไป.-312.-สำนักข่าวไทย