ไทยซัมมิท 9 ส.ค. – “ณัฐพงษ์” หัวหน้าพรรคประชาชน ยันยึดมั่นอุดมการณ์เดิม เดินหน้าลุยแก้ ม.112 เหตุศาล รธน. ไม่ห้าม แต่ไม่ประมาท ต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดี เหตุปัจจุบันกฎหมายนี้ยังมีปัญหา
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากนี้จะลดเพดานลงหรือไม่ว่า เราไม่เคยสื่อสารว่าลดเพดานอะไร เรายืนยันว่าเราเสนอร่างแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งพรรคฝั่งตรงข้าม และคำวินิจฉัยศาลไม่ได้สั่งห้ามแก้ไข แน่นอนว่าเราไม่ประมาท เราทำทุกอย่างรอบคอบ คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา จนยุบพรรคก้าวไกล เราต้องศึกษาอย่างดี แต่คิดว่าพวกเราต้องผลักดันเดินหน้าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนนี้ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราเซ็นเซอร์ปิดปากตัวเอง เราเสนอบนหลักการ เราไม่ได้มุ่งเป้าเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันใด ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เราต้องยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรายืนยันเดินหน้าทุกอย่างต่อ แต่เราต้องกลับมาศึกษาข้อกฎหมายทุกอย่างด้วย
“การทำหน้าที่ในส่วนนี้ หรือพรรคก้าวไกลถูกคำสั่งยุบพรรค จะทำให้การทำงานของเราเปลี่ยนไปหรือไม่ คิดว่าวิธีการปฏิบัติ เราไม่ประมาท เราต้องกลับมาทบทวนเรียนรู้ในส่วนคำตัดสินศาล และประเด็นกฎหมายต่างๆ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือหลักการและความเชื่อ เราต้องการทำให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” นายณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามถึงคดีความของ 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล ที่อยู่ระหว่างไต่สวนในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า คำร้องของ ป.ป.ช. คิดว่าต่างจากการยุบพรรค เพราะเป็นศาลยุติธรรม ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี การกระทำของ สส.แต่ละคน องค์ประกอบอาจต่างกันบ้าง บางคนอาจเรียกร้องแทนผู้ชุมนุม บางคนใช้สิทธิประกันตัว แต่ทุกคนได้ลงนามเสนอแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งแต่ละคนมีสิทธิชี้แจงกันไป แต่โดยในส่วนของตนไม่มีข้อกังวล
เมื่อถามว่าพรรคประชาชนที่เพิ่งตั้งมานี้จะมีอายุสั้นหรือยืนยาว นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สั้นหรือยืนไม่ได้อยู่ที่เรา ที่ผ่านมาเห็นว่าสั้นหรือยืนอยู่ที่กลุ่มขั้วอำนาจเก่า ใช้เครื่องมือในการทุบทำลายเรา เอาสิ่งเหล่านั้นมากดทับไม่ให้เราเดินหน้าต่อก็ไม่ได้ เพราะประชาชนอาจขาดศรัทธาในตัวเรา ยืนยันจะเดินหน้าต่อไป แต่ไม่ประมาท ทำงานด้วยความสุขุมรอบคอบ ดังนั้น อายุยืนหรือไม่อยู่ที่พวกเขาด้วย และอยู่ที่ประชาชนสนับสนุน
เมื่อถามถึงที่ผ่านมา พรรคพยายามมุ่งมั่นแก้ไขเรื่องใหญ่ๆ เช่น มาตรา 112 นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เราเองไม่ได้พุ่งเป้าที่จะเสนอแก้ไขมาตรา 112 อย่างเดียว แต่เสนอแก้ไขเรื่องนโยบายอื่นๆ ด้วย ตนขอสื่อสารไปยังประชาชนที่อาจยังไม่ได้โหวตเลือกเราในอดีต พรรคประชาชนในปัจจุบันไม่ได้พุ่งเป้าใดๆ ต่อสถาบันทางการเมืองใดๆ ก็ตาม เราตั้งใจเสนอนโยบายต่างๆ ในโครงสร้างสังคมไทยที่ยังมีปัญหา นี่คือวิธีสื่อสารตรงไปตรงมา ทำงานหนัก และจริงใจ เราคิดว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้น
ส่วนการตั้งกรรมการบริหารพรรคแค่ 5 คน เพื่อหลบเลี่ยงอุบัติเหตุทางการเมืองในอนาคตใช่หรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 คน ไม่ได้หลบเลี่ยงอันตราย แต่เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำกฎหมาย เราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงไร้รอยต่อ จากพรรคที่ถูกยุบสู่พรรคประชาชน เราต้องการหาสมาชิก 1 แสนคน บริจาค 10 ล้าน ภายใน 1 เดือน พวกเรายังเปิดกว้าง หารือในพรรคว่าการออกแบบโครงสร้างพรรคอย่างที่เรียนไปตอนต้น จะมีกรรมการบริหารพรรคสัดส่วนมากขึ้นหรือไม่ ยังหารือในพรรคได้ต่อ อาจได้ข้อสรุปปลายเดือนหน้าจะมีการประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวเสริมว่า ในฐานะมีส่วนร่วมจัดทำนโยบายตอนก้าวไกล เรื่องมาตรา 112 เป็น 1 ใน 300 นโยบายที่เราเสนอไป ถ้าเราไปดูสิ่งที่พรรคก้าวไกลทำ เราพยายามแก้ไขทุกสิ่งที่เป็นปัญหาของประเทศนี้ ตั้งแต่พรรคก้าวไกลที่เราดำเนินการมา เราเสนอร่างกฎหมายไป 60 กว่าฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระจายอำนาจ ยกระดับขนส่ง แก้ที่ดินทำกิน คุ้มครองสิทธิแรงงาน นี่คือสัญญาของพรรคที่พร้อมแก้ทุกปัญหาของประชาชน ถ้าย้อนไปดูในการเลือกตั้งปี 2566 ไม่ใช่ก้าวไกลพรรคเดียว บางพรรคอาจพูดถึงเนื้อหา หรือการบังคับใช้ นี่เป็นคำถามที่ควรถามทุกพรรคเช่นกันว่าปัญหานี้จะมีทางออกเช่นไร
เมื่อถามย้ำว่าการลดเพดานลงจะรักษาอุดมการณ์เหมือนเดิมได้หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า อะไรที่เราเคยมองว่าเป็นปัญหา เรายังมองว่าเป็นปัญหาอยู่ แต่เข้าใจว่าพื้นที่ที่หาทางออกนั้นแคบลงด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลไม่ได้ห้ามแก้ไขมาตรา 112 เลย ยังมีพื้นที่เหลืออยู่ อาจเป็นเรื่องการพิจารณาอัตราโทษ สิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นต้น ดังนั้น พื้นที่ที่น่าจะเหมาะสมที่สุดในการพูดคุยหาทางออกเรื่องนี้คือพื้นที่ของสภาฯ และพูดคุยบนพื้นฐานทางออก ภายใต้กรอบของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ คำวินิจฉัยที่ 3/2567 และ 10/2567 .-314-สำนักข่าวไทย