รัฐสภา 6 ส.ค.- ฉลุย! 139:38 เสียง วุฒิสภาไฟเขียวงบฯ ดิจิทัลวอลเล็ต 1.22 แสนล้านบาท สว.รุมจี้ให้แจกเป็นเงินสด ฉะ! นโยบายหวังผลเลือกตั้ง ทำประเทศเจ๊ง ด้าน “จุลพันธ์” ปัดรัฐบาลใช้ดิจิทัลวอลเล็ตหวังผลเลือกตั้ง ย้ำเป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ยอมรับรัฐบาลจำเป็นต้องกู้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เตรียมเปิดลงทะเบียนคนไร้สมาร์ทโฟน 16 ก.ย.นี้ ส่วนร้านค้าเริ่มเข้าชื่อ 1 ต.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมาก 139 เสียง ต่อ 38 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาท ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำเสนอต่อวุฒิสภา โดยเป็นการพิจารณาแบบไม่ตั้งกรรมาธิการ ซึ่งมีผู้งดออกเสียง 18 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ภายหลังได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วในวาระที่ 3
นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภค และการลงทุนในประเทศโดยเร่งด่วน ไม่สามารถรองบประมาณปี 2568 ได้ โดยยืนยันว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ และเม็ดเงินจำนวนมาก จะไหลจากภาครัฐ ไปยังภาคเอกชน เกิดการสั่งซื้อสินค้า และบริการ และย้ำว่า รัฐบาลจะใช้จ่ายเงินภาษีของประชนชนให้มีประสิทธิภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลสู่ประชาชน และภาคธุรกิจ สร้างความเจริญเติบโตให้ดับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย
ขณะที่ การอภิปรายของ สว.นั้น มีสมาชิกวุฒิสภาหญิง 2 คน ที่เป็นเคยเป็นแม่ค้ามาก่อน ได้อภิปรายเกือบทั้งน้ำตา ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดรัฐบาล จึงไม่แจกเป็นเงินสด เพื่อให้ประชาชน นำไปใช้จ่ายได้สะดวก และยังตัดพ้อที่อาชีพพ่อค้า แม่ค้า แทบจะไม่เคยได้รับการดูแลจากรัฐบาล เหมือนเกษตรกร หรือชาวนา ต้องอดทนอดกลั้นทำอาชีพดูแลครอบครัว รวมถึงยังตั้งข้อสังเกตเหตุใด จึงไม่แจกเงินอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า
“เพื่อน ๆ แม่ค้าฝากความหวัง และกำลังใจในการมาเป็น สว.ให้แม่ค้าขายของดีขึ้น แต่การเป็น สว.ในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่จะมาบอกความในใจแม่ค้าทุกคน ที่ไม่ค่อยได้รับการดูแลจากรัฐบาล ชาวนาได้ไร่ละ 1,000 หรือไร่ละ 10,000 บาท แต่แม่ค้าต้องช่วยตัวเอง ขายของกลางคนน ใช้ความอดทนทำมาหากิน ทำอาชีพเพื่อดูแลครอบครัว ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งเห็นชอบ อยากได้เงิน 10,000 บาท แต่อยากได้เป็นเงินสด ซึ่งตอนแรกรัฐบาลก็บอกว่า ทุกคนต้องได้ 10,000 บาท แต่ก็มีเงื่อนไขมากมาย ซึ่งบางคนก็ทำมาหากิน มีเงินเก็บ 500,000 บาทก็ขาดคุณสมบัติแล้ว แล้วเขาผิดอะไรที่มีเงินเก็บ และทำไมทุกคนไม่ได้เงิน คนที่ขยันทำมาหากิน แต่ถูกตัดสิทธิ ทำไมถึงไม่ทำให้เสมอภาคเท่ากัน ทำไมต้องคัดเกรด” นางเบ็ญจมาศ อภัยทอง สมาชิกวุฒิสภา อภิปราย
“การที่รัฐบาลจะแจกเงินประชาชนคนไทย 10,000 บาท ตนเองมีความยินดีและดีใจมาก แต่มีความกังวลว่าจะนำไปใช้จ่ายอย่างไรหลังได้รับเงินส่วนนี้ เนื่องจากเป็นเงินดิจิทัล จึงรู้สึกคิดหนักที่บางครอบครัวมีสมาชิก 4-5 คน หากรวมเป็นเงิน 40,000-50,000 บาท อยากเอาไป ซ่อมแซมบ้าน ซื้อควายซื้อวัวเลี้ยง ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ทำไมรัฐบาลไม่แจกเป็นเงินสด จะได้ใช้ง่าย ๆ” นางแดง กองมา สมาชิกวุฒิสภา อภิปราย
ทั้งนี้ การอภิปรายของนางแดงนั้น ทำให้นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ ได้นำโทรศัพท์ มาบันทึกภาพ ก่อนที่จะหยิบกระดาษมาซับน้ำตาอยู่นานแล้ว จนนางแดงอภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว ก็ยังคงเช็ดอยู่
นอกจากนั้น สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ยังกังวลว่า โครงการดังกล่าวของรัฐบาล จะเป็นการเอื้อนายทุน ทำประชาชนเสียนิสัยจากการแจกเงิน และยังเป็นการหาเสียงล่วงหน้าของรัฐบาล สร้างภาระจนจะทำประเทศเสียหาย
“โครงการนี้เป็นการเพิ่มหนี้ให้กับประชาชนหรือไม่ และจากการลงพื้นที่ ประชาชนก็ยังสงสัยต่อการใช้เงินดิจิทัล และจะไปใช้จ่ายต่ออย่างไร ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินสด จึงตั้งข้อสงสัยว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์จริงหรือไม่ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง หรือเป็นเพียงการหาเสียงล่วงหน้า พร้อมยังเห็นว่า การเปิดลงทะเบียนประชาชนนั้น อาจจำให้ประชาชนดีใจเล่น ๆ และยังระบุอีกว่า การลงทะเบียนนั้น ชาวบ้านต้องไปซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ 4,000 บาท จนเงินหายไปแล้ว 4,000 บาทจาก 10,000 บาท พร้อมยังแสดงความกังวลว่า การแจกเงินหมื่นจากรัฐบาล จะทำให้ประชาชนเสียนิสัย” พลตำรวจโทบุญจันทร์ นวลสาย สมาชิกวุฒิสภา อภิปราย
“โครงการนี้ไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นโครงการเศรษฐกิจการเมือง ที่ยิงทะลุมิติ หวังผลเลือกตั้งคราวหน้า เพราะหากนโยบายนี้ไม่สำเร็จ การเลือกตั้งคราวหน้า พรรคเพื่อไทยไปไม่รอดแน่นอน ฉะนั้น จึงไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะทำให้เจ๊งทั้งประเทศ พร้อมยังอภิปรายว่า ในอดีตมีนโยบายแจกเงินของรัฐบาลหลายโครงการ แต่ความยากจนก็ยังคงเป็นมิตรแท้ของประชาชนเช่นเดิม จนมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ประชาชนแห่มาลงทะเบียน เพราะกลัวเสียสิทธิ และยังคงมีความซับซ้อน ไม่แจกเป็นเงินสด พร้อมเชื่อว่า เม็ดเงินต่าง ๆ ก็จะยังคงไหลกลับไปที่นายทุนใหญ่ และจะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ แม้ GDP ของประเทศจะโตขึ้น ความยากจนของประชาชนก็คงไม่ได้ลดลง หรือแม้จะมีการทักท้วงจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาเตือนแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังไม่ฟัง และยังคงเดินหน้าต่อ แต่วุฒิสภา จะต้องยับยั้งรัฐบาล พร้อมยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ ที่การเลื่อนลงทะเบียนของร้านค้าน เป็นเพราะไม่มีร้านค้าใดเข้าร่วมใช่หรือไม่ ดังนั้น ตนจึงไม่ให้ความเห็นชอบงบประมาณเพิ่มเติมฉบับนี้ และรัฐบาลควรจะหันไปสนับสนุนการออมให้กับประชาชน หรือผู้สูงอายุ หรือแม้แต่นโยบายของรัฐบาลที่แล้วที่ดี เช่น กฎหมายการส่งเสริมการออม ก็ควรจะสนับสนุนต่อ” นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา อภิปราย
ทั้งนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ ฉบับนี้นั้น นายนิรุตติ สุทธินนท์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เสนอต่อที่ประชุมให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ในข้อที่ 138 โดยไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เพิ่มเติม แต่นางสาวรัชนีกร ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา ไม่เห็นด้วยหากจะงดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เนื่องจาก งบประมาณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเป็นเงินกู้ทั้งหมด จึงขอให้ที่ประชุมฯ ได้ทบทวน
ด้าน นายกมล รอดคล้าย สมาชิกวุฒิสภา สนับสนุนข้อเสนอของนายนิรุตติ เพราะเห็นว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องใช้เวลา แต่เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องเร่งด่วนตามที่รัฐบาลเสนอ ดังนั้น การงดใช้ข้อบังคับการประชุมดังกล่าว ก็จะทำให้สามารถใช้กรรมาธิการเต็มสภาได้ และสามารถเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลาได้ แต่ที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทำให้ต้องมีการลงมติ ซึ่งที่สุดแล้ว ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 161 เสียง ต่อ 17 เสียง เห็นชอบตามข้อเสนอของนายนิรุตติ ที่ประชุมให้งดใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เพิ่มเติม
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงข้อสังเกต และข้อสงสัยของสมาชิกวุฒิสภา โดยย้ำว่า รัฐบาล ได้ยืนยันว่า งบประมาณดังกล่าว เป็นไปตามกรอบกฎหมาย และวินัยการเงินการคลัง พร้อมยอมรับว่า รัฐบาล จำเป็นจะต้องมีการกู้หนี้เพิ่มเติม เพื่อเติมเงินใส่ในระบบเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจในการเดินหน้าโครงการ
ส่วนข้อสังเกตเหตุใดรัฐบาลไม่จ่ายเป็นเงินสดนั้น นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า กลไกที่รัฐบาลกำหนด เป็นกลไกลใหม่ ต่างจากอดีต ที่แจกเป็นเงินสด เพราะอาจทำให้ประชาชน ออมไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ยอมใช้จ่าย ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ และรัฐบาล ต้องการให้เม็ดเงินกระจายตัวอยู่ในความเหมาะสม ไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในตัวเมือง และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนอยู่ในระบบได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตามที่รัฐบาลต้องการ เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ หากรัฐบาลกำหนดให้ใช้เป็นดิจิทัลวอลเล็ต ในอำเภอแม่ริม ซึ่งมีประชากรจำนวนประมาณ 80,000 คน ก็จะมีเงินหมุนอยู่ในอำเภอ 800 ล้านบาท แต่หากแจกเป็นเงินสด ประชาชนก็จะไปใช้เงินในอำเภอเมืองเชียงใหม่มากกว่า และหากร้านค้า ต้องการจะขึ้นเป็นเงินสด ก็สามารถทำได้ในการหมุนรอบที่ 2 และเงินสดก็จะยังคงหมุนเวียนในระบบ มีผลระยะยาว และกลไกนี้ ไม่ใช่เพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการวางรากฐานดิจิทัลระยะยาว ให้คนไทยพร้อมรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงข้อมูลประชาชนต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการกำหนดนโยบายได้อย่างตรงจุด พร้อมย้ำว่า แอพลิเคชันทางรัฐ มีความปลอดภัยแน่นอน
นายจุลพันธ์ ยังย้ำว่า ในการใช้จ่ายนั้น รัฐบาลได้วางกลไกไม่ให้เกิดการกระจุกตัวกับรายใหญ่ และกระจายตัว ง่ายต่อการใช้งาน ดังนั้น จึงสามารถซื้อของจากร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก วิสาหกิจชุมชนของประชาชนในท้องถิ่น ได้ รวมไปถึงร้านหาบเร่แผงลอย ที่แม้ไม่เสียภาษี ก็สามารถลงทะเบียนได้ แต่ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาล จะเปิดลงทะเบียนร้านค้า ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้
ส่วนประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์มือถือในการลงทะเบียนรับสิทธิ์นั้น นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์มือถือในการลงทะเบียน รัฐบาลจะเปิดลงทะเบียนในวันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567 โดยจะต้องลงทะเบียนผ่านหน่วยงานรัฐ และใช้บัตรประชาชนในการซื้อสินค้า ซึ่งอาจจะไม่สะดวก และมีความซับซ้อนกว่า
นายจุลพันธ์ ชี้แจงกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภาตั้งข้อสังเกตโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลหวังผลการเมือง โดยยืนยันว่า โครงการนี้ฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ว และเป็นสัญญาประชาคม ที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงจะต้องเดินหน้า ไม่มีความเป็นพรรคการเมือง เพราะทุกพรรคอยู่ร่วมกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่ใช่นโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง และยังมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดนโยบายตามข้อห่วงใยของสังคม ที่รัฐบาลพร้อมรับฟัง
โดยภายหลังที่วุฒิสภา ให้ความเห็นชอบเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม กรอบวงเงิน 122,000 ล้านบาทแล้ว ประธานวุฒิสภา จะส่งร่างงบประมาณ กลับคืนไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอน และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป .312 -สำนักข่าวไทย