ทำเนียบฯ 25 ก.ค. – รัฐบาลยกระดับการป้องกันการจมน้ำ จัดกิจกรรมสัมมนาสานพลังเครือข่ายป้องกันการจมน้ำประเทศไทย เนื่องในวันป้องกันการจมน้ำโลก “World Drowning Prevention” ทุกวันที่ 25 กรกฎาคม ลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียจากการจมน้ำ ย้ำ 3 เเนวทาง “ตะโกน โยน ยื่น”
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนา ดูแลเด็ก ให้มีความเป็นอยู่ การศึกษาที่เหมาะสม โดยสั่งการดูแลอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย โดยอีกประเด็นที่นายกรัฐมนตรีห่วงใย คือให้มุ่งส่งเสริมความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ และทักษะการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ ยกระดับการป้องกันการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ส่งเสริมการป้องกันและเฝ้าระวังตาม 3 เเนวทางสำคัญ “ตะโกน โยน ยื่น” ลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากการจมน้ำ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กองป้องกันการบาดเจ็บ ได้จัดงานสัมมนาสานพลังเครือข่ายป้องกันการจมน้ำประเทศไทย เนื่องในวันป้องกันการจมน้ำโลก (World Drowning Prevention Day : WDPD 2024) พร้อมมอบโล่รางวัล ทีมผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ (MERIT MAKER Plus) ระดับประเทศ ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ณ เดอะพอร์ทอล บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ภายใต้แนวคิด “Anyone can drown, no one should : จมน้ำง่ายกว่าที่คิด…หนึ่งชีวิตไม่ควรสูญเสีย” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการจมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเด็กจมน้ำในประเทศไทย ร่วมกับการส่งเสริมการป้องกันและเฝ้าระวังการจมน้ำ ตาม 3 เเนวทางสำคัญ “ตะโกน โยน ยื่น” ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการจมน้ำ
ข้อมูลองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ระบุว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี โดยทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำปีละ 236,000 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 82,000 คน สำหรับประเทศไทย การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุขนส่งทางบก โดยจากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2566) มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,503 คน หรือวันละกว่า 10 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 6,693 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มุ่งเน้นดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 และมีสาเหตุหลัก คือ การขาดทักษะการเอาชีวิตรอด และการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำที่ถูกต้อง
จากสาเหตุดังกล่าว ทางกรมควบคุมโรคได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดมาตรการป้องกันการจมน้ำ สร้างความรู้ความเข้าใจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในระดับชุมชน คู่ขนานกับการใช้กลยุทธ์การดำเนินการตามมาตรการป้องกันการจมน้ำภายใต้ชื่อ “ผู้ก่อการดี” หรือ MERIT MAKER ซึ่งเป็นทีมเครือข่าย ทั้งจากภาคมูลนิธิ สมาคม และจิตอาสา ที่จะเป็นตัวแทนในการสื่อสารและดูแลประชาชนในพื้นที่ ซึ่งดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา สามารถลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กได้ถึงร้อยละ 60 จากการเสียชีวิตปีละ 1,500 คน ปัจจุบัน 615 คน รวมทั้งรณรงค์ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำและทักษะการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ เพื่อให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่เสียชีวิตจากการจมน้ำลดลง ให้เหลือไม่เกิน 290 คน ภายในปี 2580 ตามเป้าหมายในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นอกจากนี้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงแนวทางการช่วยเหลือหากเกิดเหตุพบเจอคนตกน้ำ/จมน้ำ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขแนะนำถึงมาตรการตาม 3 แนวทางสำคัญ คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้
1) ตะโกน คือ เรียกให้คนมาช่วย ขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือ รพ.ใกล้เคียง
2) โยน คือ การโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้
3) ยื่น คือ การยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับ และดึงขึ้นมาจากน้ำ หากช่วยคนตกน้ำขึ้นมาจากน้ำแล้ว ต้องรีบแจ้งสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเรียนรู้ทักษะและวิธีการป้องกันการจมน้ำ พร้อมแนะนำแนวทางร่วมกับเด็กและเยาวชนผ่านเกม “รู้ทันก่อนเล่นน้ำ” ได้ที่ https://mosu.fun/waterhelp/ จัดทำโดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะนำเสนอ 4 ทักษะพื้นฐาน ได้แก่ กฎความปลอดภัยทางน้ำ การรับมือกับสถานการณ์จมน้ำ การปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้จมน้ำ และข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยทางน้ำ รวมทั้งสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
“นายกรัฐมนตรีห่วงใยถึงปัญหาการจมน้ำในเด็ก โดยเฉพาะมักมีจำนวนมากในช่วงการปิดภาคเรียน จึงได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ สร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมจัดเเนวทางเเละมาตรการที่ส่งเสริมความปลอดภัยทางน้ำ ร่วมกับทักษะการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำที่ถูกต้องให้เเก่ประชาชน รวมทั้งขอบคุณในความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ช่วยกันสร้างเกราะป้องกัน สร้างทักษะให้ประชาชนสามารถเอาตัวรอด เเละลดความเสี่ยงจากเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้าน หรือเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม” นายชัย กล่าว.-314-สำนักข่าวไทย