ทำเนียบ 16 ก.ค.- “ศุภมาส” ยืนยันไทยไม่เคยรับรองวุฒิจาก California University เหตุไม่เคยมีคนมายื่น โยนมหาวิทยาลัยต้นทางพิสูจน์ ชี้ตำแหน่งศาสตราจารย์ต้องมีมหาวิทยาลัยไทยเทียบให้ บอกใช้กรอกเอกสารไม่ได้ ขอกลับไปศึกษาข้อกฎหมายใช้ตำแหน่งไม่มีคนรับรองผิดหรือไม่
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงกรณี พญ. เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว. ใช้วุฒิจาก California University สมัครสมาชิกวุฒิสภา ว่า กรณีนี้ต้องแบ่งเป็นสองเรื่อง คือ การเทียบวุฒิระดับปริญญาเอก ไม่ว่าจะจบในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก หากจบในประเทศประเทศไทยกระทรวงอว. ต้องเป็นผู้รับรองตั้งแต่เริ่มทำหลักสูตรอยู่แล้ว แต่หากเป็นวุฒิการศึกษาหรือหลักสูตรที่จบจากต่างประเทศ และประสงค์จะนำกลับมาใช้ในประเทศไทย จะต้องมายื่นเรื่องขอเทียบคุณวุฒิกับกระทรวง เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยในความดูแลมากกว่า 1 หมื่นแห่ง เราไม่สามารถไปขึ้นบัญชีได้ว่าทั้งหมด
น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า แต่ในกรณีของ California University จากการตรวจสอบ พบว่ายังไม่มีผู้มายื่นขอเทียบคุณวุฒิ จึงยังไม่เคยมีการรับรองวุฒิให้ ต้องรอให้มีผู้มายื่นเรื่องก่อนจึงจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ และสอบทานเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ว่าสามารถเทียบกับปริญญาตรี โท เอกของไทยได้หรือไม่
ส่วนตำแหน่งศาสตราจารย์ น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า จะต้องทำเรื่องขอตำแหน่งทางวิชาการ เริ่มตั้งแต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ มาเป็นศาสตราจารย์ ซึ่งจะมีขั้นตอนการยื่นผ่านมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แล้วจะต้องส่งเรื่องมายังกระทรวงอว. เพื่อขอโปรดเกล้าฯ ในตำแหน่งนี้ ซึ่งเราจะมีคณะกรรมการและขั้นตอนอยู่แล้ว
น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า สำหรับ professor ที่ต้องการเข้ามาสอนหรือว่าบรรยายในประเทศไทย ผู้ที่ต้องทำการตรวจสอบจะเป็นมหาวิทยาลัยนั้นๆ ไม่ใช่ทางกระทรวง เช่น หาก professor จากประเทศจีนต้องการมาสอนที่มหาวิทยาลัยเกริกในประเทศไทย ก็เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเกริก ที่จะต้องเทียบตำแหน่ง professor กับศาสตราจารย์ในประเทศไทย ซึ่งแต่ละประเทศจะมีขั้นตอนและกระบวนการแตกต่างกันไป ฉะนั้นในกรณี พญ.เกศกมล เรื่องจะไม่มาถึงกระทรวงอว. แต่เมื่อเห็นกรณีศึกษาเช่นนี้ น่าจะต้องกลับไปทบทวนบทบาทของกระทรวง กรณี professor ที่รับรองจากต่างประเทศและต้องการมาทำงานในประเทศไทย อาจต้องส่งมาให้ทางกระทรวงอว. รับทราบและช่วยตรวจสอบ เพราะถือเป็นปัญหาสังคมและเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส
เมื่อถามว่า เคยมีคนนำวุฒิจาก California University ให้ กระทรวง อว.เทียบวุฒิหรือไม่ น.ส.ศุภมาศ กล่าวว่า ยังไม่มีจากข้อมูลที่หามา ซึ่งเช็คจากทางกระทรวงยังไม่เคยมีคนมาขอเทียบเลย
เมื่อถามว่า เป็นข้อยืนยันว่า อาจจะไม่ใช่วุฒิปริญญาเอกจริงๆ ใช่หรือไม่ น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ปริญญาเอกนี้ชอบหรือไม่ชอบ ใช่หรือไม่ใช่ ผู้ที่จะต้องสืบหาความจริง จะต้องเป็นกระทรวงของสหรัฐอเมริกา หรือผู้ที่มีหน้าที่อนุมัติเกี่ยวกับหลักสูตรของสหรัฐอเมริกา ส่วนหน้าที่ของกระทรวงอว.มีเอกสารมาจริงหรือไม่นั้นเราไม่รู้ แต่อาจจะช่วยพิสูจน์ แต่หน้าที่หลักต้องเป็นประเทศต้นทาง และเมื่อได้รับเอกสารมา กระทรวงอว.มีหน้าที่ทำตามกระบวนการ เพื่อดูว่าสามารถเทียบวุฒิได้หรือไม่ ซึ่งในหลายมหาวิทยาลัยที่มีผู้ยื่นเทียบวุฒิแล้วนั้นจะสามารถทำเรื่องได้สั้นลง เพราะมีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ถ้ายังไม่เคยมีอาจจะต้องใช้เวลาสักพัก
เมื่อถามว่า เคยมีกรณีจบปริญญาโท ปริญญาตรีจากต่างประเทศ แต่มาเทียบวุฒิแล้วไม่ได้มาตรฐานของไทยหรือไม่ น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า มีกรณีที่เทียบไม่ได้หากมาตรฐานไม่ตรงกัน อาจจะเป็นเรื่องของจำนวนหน่วยกิต หรือจำนวนวิทยานิพนธ์ ซึ่งปริญญาตรีจะต้องมี 120 หน่วยกิต ขณะเดียวกันถ้าจำนวนหน่วยกิตไม่ถึง เมื่อไปเทียบกับต่างประเทศ ก็อาจจะไม่ได้เหมือนกันซึ่งเกิดได้ในทุกกรณี ดังนั้นต้องให้กระทรวงอว.ทำเรื่องยื่นคุณวุฒิให้ การเทียบวุฒิจึงมีคำตอบทั้งผ่านและไม่ผ่าน
เมื่อถามว่าหากไม่ผ่านจะต้องกลับไปใช้วุฒิของประเทศไทย หรือไม่ น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า วุฒิปริญญาตรี โท เอก จากต่างประเทศที่มีอยู่ก็จะใช้กับประเทศไทยไม่ได้ แต่อาจจะใช้กับประเทศต้นทางได้
เมื่อถามว่าตำแหน่งศาสตราจารย์ ของพญ.เกศกมล ปัจจุบันยังไม่พิสูจน์ทราบว่าเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยใด ตำแหน่งศาสตราจารย์ที่อ้างว่ามีอยู่นั้นสามารถใช้การกรอกข้อมูลต่างๆในไทยได้หรือไม่ น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า “น่าจะยังใช้ไม่ได้ จะใช้ได้ในกรณี ที่มหาวิทยาลัยไทยเป็นผู้เทียบให้ แต่จะไม่เหมือนกับเรื่องปริญญาที่ กระทรวง อว.เป็นผู้เทียบให้ ตำแหน่ง professor มหาวิทยาลัยนั้นๆ ที่เขาจะมาทำงาน มารับเงินเดือน จะเป็นผู้เทียบให้”
เมื่อถามว่า หากมีการใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในไทย โดยที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดเทียบให้มีความผิดหรือไม่ น.ส.ศุภมาศ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจข้อกฎหมาย ขอกลับไปศึกษาดูก่อน.-319 -สำนักข่าวไทย