ทำเนียบ 6 ก.ค.-“รัดเกล้า” รองโฆษกฯ เผย ครม. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็น และมีมติเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. ตามที่ สงป. เสนอ
วันนี้ (6 กรกฎาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (2 กรกฎาคม 2567) ตามที่เสนอแล้ว ดังนี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมอบให้ สงป. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคสอง ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งกำหนดให้ ครม. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็น และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นั้น เพื่อดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สงป. เสนอ ดังนี้
1.การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. สงป. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. โดยการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ สงป. ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน – 25 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้ ได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นไปประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบและการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. และได้จัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ….
2.ข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. สงป. ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. โดยได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และนำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้นตามแบบการร่างกฎหมายตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. มีโครงสร้างและองค์ประกอบของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กำหนดเฉพาะมาตรา ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ไม่มีผลทำให้รายละเอียดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เปลี่ยนแปลงไปจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 โดยมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ……-319.-สำนักข่าวไทย