1 ก.ค. – “รศ.ดร.ปณิธาน” ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ วิเคราะห์เหตุการณ์คาร์บอมบ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลังวานนี้ (30 มิ.ย.67) คนร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ บริเวณหน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุสถานการณ์ในภาพรวม 2 กลุ่มเหตุการณ์จะสวนทางกัน ขัดแย้งกันในความรู้สึกของประชาชน กลุ่มเหตุการณ์แรกคือความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนโดยทั่วไปของชุมชน ศูนย์การค้า สถานประกอบการ สังคมโดยรวมก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขความรุนแรงต่อพื้นที่เหล่านี้ถือว่าน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นห้างร้าน ตลาด ชุมชน ศูนย์การค้า หรือประชาชนโดยทั่วไป สถิติความสูญเสียลดลงตามลำดับถึงประมาณ 70% ถ้าดูตัวเลขเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา ประชาชนรู้สึกได้ถึงความสงบสุขกลับคืนสู่พื้นที่ กำลังเจ้าหน้าที่ได้ถอนกำลังลงจากหลายพื้นที่ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้รับการปรับปรุง ได้รับการตรวจสอบมากขึ้น รวมทั้งนานาชาติ เช่น องค์กรต่างๆ รวมทั้งโอไอซี ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน นำไปสู่การพูดคุยสันติสุข นำไปสู่การพูดคุยเกี่ยวกับการลดความรุนแรงในภาพรวมของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งกลุ่มที่ติดอาวุธ
ภาพที่สองขณะนี้สวนทางกันเรื่อยๆ คือความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเครือข่ายกลุ่มบุคคลที่ทำงานให้กับรัฐ ตรงนี้จะรุนแรงมากขึ้น เป็นความผิดปกติ หรือเรียกว่าความปกติใหม่ จะมีการโจมตีเจ้าหน้าที่ อย่างกรณีคาร์บอมบ์เกือบประมาณ 70 ครั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์ความรุนแรง ลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่สถานตำรวจภูธรของหลายจังหวัด จะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สวนทางกัน แต่ในงานวิจัยหลายชิ้นก็เชื่อว่ายังเชื่อมโยงกันของกลุ่มต่างๆ ที่แบ่งการปฏิบัติการ ส่วนหนึ่งเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกลไกภายในของกลุ่มที่ติดอาวุธ และบางส่วนอาจต้องการแสดงผลงาน เพื่อนำไปใช้ในการพูดคุย เจรจาในรูปแบบต่างๆ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของการเปิดเผยและเข้าไปสู่กระบวนการสันติภาพสากล ทั้งหมดเหล่าหนี้เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องไปกวดขัน จับกุมดำเนินคดีในส่วนที่สอง ถอดบทเรียนให้มากขึ้น กรณีคาร์บอมบ์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่
การก่อเหตุช่วงหลังๆ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่มีน้อยมาก บอกว่าเป็นการกระทำของคนหน้าขาว คือคนที่ไม่มีประวัติ ไม่มีคดีความ รศ.ดร.ปณิธาน เผยว่า ถ้าดูจากงานวิจัยจะเห็นว่ากลุ่มคนที่เข้ามาปฏิบัติงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เป็นกลุ่มที่ถูกชักจูงเข้ามา ประวัติอาชญากรรมค่อนข้างน้อย หมุนเวียนเข้ามา มีการฝึกซักซ้อมกันพอสมควร การกระทำแบบนี้ไม่สามารถที่จะทำได้เลย แต่อีกสองส่วนที่สำคัญคือ กลุ่มแนวร่วมที่มีความเคลื่อนไหวในการสนับสนุน และกลุ่มผู้บัญชาการกลุ่มที่เข้าไปดึงเอากลุ่มคนที่อาจจะไม่มีประวัติเข้ามา สองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับเงินทุน การประกอบชิ้นส่วนระเบิด ส่วนสั่งการ ส่วนปฏิบัติการ .-สำนักข่าวไทย