รัฐสภา 19 มิ.ย.-“พิชัย” รมว.คลัง รับปากปี 2569 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต รายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย ลดขนาดการขาดดุล พร้อมรับความเห็น สส. ปรับใช้ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงถึงการจัดสรรร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ว่าตนนั่งฟังตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาโดยได้เก็บทุกความรู้สึก ทุกความเห็นเพื่อมานั่งประมวลว่า สส. อาจมีความสงสัยและความไม่ชัดเจนในเรื่องการใช้งบประมาณ ปี 2568 เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการตั้งงบประมาณ ประมาณในลักษณะการขาดดุลถึง 8.6 แสนล้าน ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจสร้างหนี้ให้ประเทศ และทำให้ฐานะของการคลังแย่ลง
โดยนายพิชัย ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ว่าจะเรื่อง New Tecnology หรือ Digital Economy ไม่สามารถแก้ได้ภายใน 1 ปี แต่จะต้องเร่งทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ ด้านการจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้จึงเป็นการจัดสรรงบประมาณในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ถึงแม้ว่าจะเป็นการตั้งงบที่ขาดดุลยืนยันกรอบวินัยการเงินการคลัง จะต้องอยู่ในกรอบและมีความเข้มแข็ง
นายพิชัย ยังได้กล่าวย้อนไปถึงกำลังซื้อในภาคครัวเรือนที่ผ่านมาว่ายังมีปัญหาอยู่ เช่น ยอดการจดทะเบียนรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถบรรทุก ที่เป็นสินค้ายอดนิยมของประชาชน ซึ่งไม่ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำเพียงใด ยอดสินค้าดังกล่าวจะไม่เคยติดลบ แต่ปรากฏว่าปัจจุบันยอดสินค้าดังกล่าวกลับติดลบมาจนถึงปัจจุบันกว่า 1 ปี ซึ่งแสดงถึงภาคครัวเรือนไม่มีกำลังซื้อ
ในส่วนของภาคผลิตรายย่อยและภาคเกษตรกร ในช่วง 4 เดือนแรกก็เกิดการหดตัวอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียงภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวร้อยละ 37 เพื่อกลับสู่สภาวะปกติ จากปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน ภาพสะท้อนที่เห็นอย่างชัดเจนประการแรกขอยืนยันว่าภาคครัวเรือนขึ้นมาอยู่สูงที่ระดับ 90 % ของจีดีพี หรือเกือบ 17 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่เกี่ยวกับที่อยู่ และหนี้ยานพาหนะ
ขณะนี้มีหลายกลุ่มที่เริ่มสามารถฟื้นตัวได้โดยเฉพาะช่วงหลังโควิดแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้และปัญหาเรื่อง NPL ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาทเป็นต้น เมื่อเสาหลัก 2 เครื่องมีปัญหาคือภาคประชาชนและภาคการผลิต หนี้สาธารณะจึงเพิ่มขึ้นโดยปริยาย
ทั้งนี้หลังจากปี 2569 เป็นต้นไป อัตราการขยายตัวของรายได้รัฐบาลจะมากกว่าอัตราการขยายตัวของรายจ่าย ซึ่งจะทำให้การขาดดุลการคลังลดลงตามลำดับและแรงกดดันของหนี้สาธารณะจะลดลง เพื่อให้ทิศทางการบริหาร จัดการการเงินการคังสอดคล้องและดำเนินตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงมีการทบทวนแผนการคลังระยะปานกลางแบบเป็นระยะ
สุดท้ายนี้ นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่ารัฐบาลได้วิเคราะห์ปัญหาของเศรษฐกิจในทุกมิติแล้วจะแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นที่เกี่ยวกับปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน และปัญหาระยะยาวที่เป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและคนไทยในอนาคต และที่สำคัญรัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังที่สอดคล้องกับนโยบายการเงินให้ได้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจนำพาประเทศไปสู่การเติบโตที่สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ควบคู่กับการให้ความสำคัญและรักษาไว้ซึ่งความยั่งยืนของการคลังอย่างเคร่งครัด ทั้งการเพิ่มรายได้เร่งรัดการเบิกจ่ายลดขนาดของการขาดดุลการสั่งและดูแลหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืน
“ประเด็นที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้แสดงความเป็นห่วงและให้เป็นข้อเสนอแนะเอาไว้ผลขอกราบขอบพระคุณ และจะรับขอไปศึกษาทบทวนในทุกประเด็น เพื่อนำไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับต่อไป”.-317.-สำนักข่าวไทย