พร้อมยกระดับภาคการเกษตร-อาหารโลก

ทำเนียบรัฐบาล  31 พ.ค.- นายกฯ แถลงวิสัยทัศน์ IGNITE AGRICULTURE ดันไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก ย้ำรัฐบาลใส่ใจมากกว่าใส่เงิน พร้อมดูแลเกษตรกรที่เป็นภาคส่วนใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้าน “ร.อ.ธรรมนัส” ประกาศ  2 มาตรการสร้างภูมิคุ้มกันยกระดับสินค้าเกษตร มั่นใจ 4 ปีเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกร 3 เท่า


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวิสัยทัศน์และแนวทางเพื่อขับเคลื่อน  IGNITE  THAILAND “จุดพลังรวมใจไทยต้องเป็นหนึ่งยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก “โดยมีคณะรัฐมนตรี หัวหน้าหัวหน้าส่วนราชการ ภาคส่วนต่างๆร่วมงาน โดยนายกรัฐมนตรี  แถลงวิสัยทัศน์ IGNITE Agriculture 2025 ปลุกพลังเกษตรกรไทยปลูกความยิ่งใหญ่ระดับโลกว่า นโยบายเรื่องการเกษตร เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะภาคเกษตรเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยประชากรไทยกว่าร้อยละ 40 เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร

“รัฐบาลมีความพร้อมและมุ่งมั่นยกระดับภาคเกษตรกรรม ส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการผลิต จนไปถึงการแปรรูปส่งออกไปยังตลาดโลกตลอดห่วงโซ่ ด้วยนโยบายและมาตรการสำคัญ ทั้งมาตรการสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตร เริ่มตั้งแต่ปัจจัยการผลิตทั้งดิน น้ำ ปุ๋ย และพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ผลิตสินค้าที่ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ข้าว มันสำปะหลัง และพืชอื่นๆ ที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ มุ่งสู่ผลสำเร็จที่ตามมาคือภาคเกษตรเติบโต นำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล” นายกรัฐมนตรี กล่าว


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร สรุปนโยบายการดำเนินงานมา ประชาชนคนไทยที่รับฟังมากกว่า 40% ของประเทศ ก็น่าจะมีความสบายใจ ว่ารัฐบาลนี้มีนโยบาย ที่ชัดเจน ซึ่ง 40% ของประชากรในประเทศไทยเกี่ยวกับภาคการเกษตร ซึ่งรัฐบาลนี้พูดมาหลายเรื่อง ล้วนแต่เป็นเรื่องที่โก้เก๋ วันนี้เรากลับมายืนจุดพื้นฐาน ของประชาชนคนไทย ทั้งนี้ เราเป็นประเทศที่ต้องพึ่งเกษตรกรรมอย่างมาก ไม่อยากพูดซ้ำกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวไว้ดีแล้วประเด็นสำคัญ 3 ด้านเรื่องความเข้มแข็งด้านการเกษตร เทคโนโลยี ความยั่งยืน

“สิ่งเหล่านี้มีหลายมิติ โดยเรื่องแรกความเป็นทางการเกษตร ดิน น้ำ ปุ๋ย พันธุ์พืชเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการสำรวจดิน ไม่ใช่มาใส่ปุ๋ยมั่วๆไป ทั้งนี้ น้ำเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ท่วมไม่แล้ง เชื่อว่ารายได้ของประเทศนี้จะพุ่งขึ้นมหาศาล เราต้องดูแลบริหารจัดการน้ำให้ดี ทำให้เขาสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง เมื่อราคาข้าวดี การลงทุนรัฐบาล ที่ทำให้ น้ำไม่ท่วมไม่แล้ง เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ลงไปผลตอบแทนจะตกอยู่ที่ประเทศและคนไทย จึงต้องบริหารจัดการเรื่องน้ำให้ดีจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลใส่ใจและให้ความสำคัญเกษตรกรสูงสุด ไม่ใช่เชิญนักธุรกิจมาลงทุนอย่างเดียว รัฐบาลให้ความสำคัญเกษตรกรเยอะมาก รวมไปถึงการห้ามสินค้าเถื่อน โดยเฉพาะยางเถื่อนเข้ามา วันนี้ราคายางไม่ใช่ 3 กิโลกรัม 100 บาท แต่กิโลกรัมละ 100 บาท เกิดจากการที่รัฐบาลนี้ทุกภาคส่วนให้ความใส่ใจไม่ใช่แค่ใส่เงิน เราดูแลทุกคน  ไม่ให้มีสินค้าเถื่อนเข้ามา และอีกหลายเรื่องที่เราใส่ใจดูแล ซึ่งการใส่ใจมีค่ามากกว่าการใส่เงิน ขอให้ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้มั่นใจและสบายใจได้ว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่แค่ใส่เงินอย่างเดียว เราทุกคนในที่นี้จะใส่ใจดูแลพี่น้องเกษตรกรที่เป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ


“รัฐบาลเน้นให้ความสำคัญกับมาตรการการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผลักดันการทำเกษตรแม่นยำ ซึ่งไม่ได้แต่มุ่งเฉพาะเรื่องการใช้เครื่องจักรกล หรือ โดรนทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังต้องรู้แนวโน้มตลาด และผลิตพืชสินค้าที่แนวโน้มดี เช่น ทิศทางพืชอาหารสัตว์ พืชที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น โกโก้ กาแฟ การบริหารจัดการสภาพดิน บริหารจัดการน้ำ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสม รู้สภาพอากาศ รวมไปถึงเรื่องการสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน จัดการกับปัญหา Climate Change อย่างประกันภัยให้แก่เกษตรกร รวมถึงเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูป การทำเกษตรแม่นยำ จะทำให้เราสามารถยกระดับสินค้าเกษตรและศักยภาพเกษตรกรไทยได้ และถัดมาที่รัฐบาลมุ่งให้เกิดการปฏิบัติจริง นั่นคือ มาตรการความยั่งยืน ไม่เผา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องตระหนัก และช่วยเหลือเกษตรกรให้ทำได้จริง การรณรงค์ลดเผาที่ก่อให้เกิดทั้ง PM2.5 ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเราสามารถดำเนินการได้จริง แต่ยังไม่เพียงพอ เราต้องมีมาตรการเพิ่มเติมด้วย อีกทั้งยังช่วยภาคการเกษตรไทยลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ที่จะทำให้เราไม่สามารถแข่งขันได้ในเรื่องของ Carbon Emission”   นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีมาตรการต่างๆ อีกมากมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญและพร้อมดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกฝ่าย ที่ร่วมบูรณาการจนเกิดเป็นผลสำเร็จ    เพื่อนำพาภาคการเกษตรไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก และเชื่อมั่นว่าผลสำเร็จจากการพัฒนาภาคการเกษตร ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ดี ปลดหนี้ มีภูมิคุ้มกันและสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ด้านร.อ.ธรรมนัส แถลงแนวทางยุทธศาสตร์ “IGNITE THAILAND จุดประกายเกษตรไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก ผลผลิตมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับ และภาคเกษตรยังสามารถเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในหลายมิติ ซึ่งภาคเกษตรต้องเผชิญกับปัญหานานับประการที่รอการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรยังคงมีรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับภาคการผลิตอื่น ๆ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมผลักดันเป้าหมายสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 4 ปี  ผ่านการขับเคลื่อนด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการสร้างภูมิคุ้มกันและความยั่งยืน และ 2. มาตรการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้

“มาตรการสร้างภูมิคุ้มกันและความยั่งยืน มุ่งเน้นเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกร โดยจะมีการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย 1.ด้านปัจจัยการผลิต พันธุ์ ดิน ปุ๋ย น้ำพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ส่งเสริมการนำเทคนิคการปรับแต่งหรือแก้ไขยีน (Gene editing: GEd) ปรับเปลี่ยนชนิดพืชให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ (Agri-Map) ส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพและใหญ่ที่สุดในอาเซียน ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยแม่นยำ ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี เพิ่มพื้นที่ชลประทานเป็น 40 ล้านไร่ ภายในปี 2570 และการเพิ่มแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 2. ด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แรงงานสูงวัย และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการทำเกษตรแม่นยำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ 3.สร้างอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน อาทิ การลดการเผาในพื้นที่เกษตร ส่งเสริมมาตรการจูงใจลดการเผาแบบมีเงื่อนไข และ การพักหนี้เกษตรกร และมาตรการประกันภัยการเกษตรโดยจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในระบบประกันภัยเพื่อช่วยประเมินความเสียหาย เช่น การใช้ดาวเทียม เครื่องวัดความเร็วลม  และเครื่องวัดความชื้นของอากาศ เป็นต้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า มาตรการยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สินค้าที่มีการผลิตมากกว่าความต้องการของตลาดภายในประเทศ ประกอบด้วย ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ไก่ กุ้ง มุ่งเน้นนโยบายสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตกับความต้องการใช้ การควบคุมปริมาณการผลิตพร้อมสินค้าทางเลือก การสร้างมูลค่าเพิ่ม  การสร้างตลาดใหม่ และการส่งเสริมการตลาด กลุ่มที่ 2 สินค้าที่ตลาดมีความต้องการ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และทุเรียน มุ่งเน้นนโยบายการเพิ่มผลผลิตในประเทศ ทั้งการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และการขยายพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม ตลอดจนการผลิตด้วยพันธุ์ดีคุณภาพสูง การเพิ่มช่องทาง และการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ และ กลุ่มที่ 3 สินค้าศักยภาพ ได้แก่  ถั่วเหลือง กาแฟ ชา โคเนื้อ และโคนม มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิต ทดแทนการนำเข้า จะสนับสนุนทั้งพันธุ์ดี เทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสม และการเข้าถึงตลาด “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนทั้ง 2 มาตรการ เพื่อนำพาภาคเกษตรไทยสู่ “ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรไทย คนในภาคการเกษตรจะต้องมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปีนี้ ซึ่งในระยะเวลา 6 เดือนต่อจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเน้นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนภาคเกษตร ได้แก่ 1.การบริหารจัดการน้ำ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา  2.การประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยรัฐสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยร้อยละ 60 และ ธ.ก.ส. สนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ลูกค้าร้อยละ 40 เกษตรกรจะได้รับการชดเชยเมื่อได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 3. การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินมาตรการลดเผา 4ป 3R เป็นการดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง 4. การพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ และเร่งศึกษาการใช้เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) 5. การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมเป็นพืชชนิดอื่นที่ตลาดมีความต้องการ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ 6.ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน   เช่น มาตรฐาน GAP มาตรฐาน EUDR มาตรฐาน RSPO” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว.-316.-สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลฯ เดือด ส่งท้ายปี

ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคมนี้ ซึ่งถือเป็นสนามเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดใหญ่ส่งท้ายปีนี้ การแข่งขันดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครต่างเร่งหาเสียงกันอย่างเต็มที่ โดยมีผู้สมัคร 4 คน ลงชิงชัย ไปติดตามบรรยากาศโค้งสุดท้ายว่าใครจะเป็นผู้คว้าชัย

ทอ.ส่ง F-16 ขึ้นบินป้องน่านฟ้า หลังมีอากาศยานไม่ทราบฝ่าย เหนือชายแดนไทย-เมียนมา

กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบิน เพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก

อุตุฯ เผยอีสาน-เหนือ อากาศหนาว กทม.อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย

กรมอุตุฯ เผยภาคอีสาน ภาคเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น

lightened Christmas tree in front of U.S. Capitol

รู้จัก “ชัตดาวน์” ของสหรัฐและผลกระทบ

วอชิงตัน 20 ธ.ค.- หน่วยงานจำนวนมากของรัฐบาลสหรัฐเสี่ยงต้องปิดทำการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า กัฟเวิร์นเมนต์ ชัตดาวน์ (government shutdown) หลังผ่านพ้นเที่ยงคืนวันนี้ (20 ธันวาคม) ตามเวลาสหรัฐ หากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ทันเวลา หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณฉบับใหม่เมื่อวานนี้ สาเหตุที่เสี่ยงชัตดาวน์ ปกติแล้วรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานรัฐบาลกลางทั้งหมด 438 แห่งก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี แต่ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภามักทำไม่ได้ตามกำหนดเวลา และมักผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ต่อไปในระหว่างที่สมาชิกรัฐสภาหารือกันเพื่อผ่านร่างงบประมาณจริง ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุเมื่อเข้าสู่เช้าวันเสาร์ตามเวลาสหรัฐ สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตเตรียมร่างกฎหมายที่จะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2568 แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันลงมติไม่เห็นด้วย และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณที่เสนอใหม่ ดังนั้นหากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ก่อนที่ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุ ก็จะเกิดการชัตดาวน์ เพดานหนี้ที่ทรัมป์ต้องการให้แก้ นายทรัมป์ยังต้องการให้สมาชิกรัฐสภาแก้ปัญหาเรื่องการกำหนดเพดานหนี้ประเทศให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมได้มากขึ้น ก่อนที่เขาจะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2568 รัฐสภาสหรัฐเป็นผู้กำหนดเพดานหนี้สาธารณะที่อนุญาตให้รัฐบาลก่อหนี้ แต่เนื่องจากรัฐบาลมักใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษี สมาชิกรัฐสภาจึงต้องคอยแก้ปัญหานี้เป็นครั้งคราว รัฐสภาสหรัฐกำหนดเพดานหนี้สาธารณะครั้งแรกในปี 2482 โดยกำหนดไว้ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.55 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน) และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้ขยายเพดานหนี้แล้วทั้งหมด 103 […]

ข่าวแนะนำ

แม่คะนิ้งโผล่ภูกระดึง เตรียมเปิดอุทยานฯ พรุ่งนี้

จังหวัดเลย อุณหภูมิลดลง 1-2 องศาฯ “แม่คะนิ้ง” โผล่ภูกระดึง เตรียมเปิดให้ท่องเที่ยวพรุ่งนี้ (23 ธ.ค.) หลังปิดมา 9 วัน จากเหตุช้างป่า

อุตุฯ เผยไทยตอนบน อุณหภูมิขยับลงอีก 1-2 องศาฯ

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลงอีก 1 – 2 องศาฯ ยอดดอยและยอดภูหนาวจัด มีน้ำค้างแข็งบางแห่ง

ยิงพรานล่าหมูป่า

เพื่อนรับเป็นคนยิงนายพรานวัย 52 อ้างคิดว่าเป็นหมูป่า

เพื่อนเปิดปากรับสารภาพเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงนายพรานวัย 52 ปี เสียชีวิตในสวนผลไม้ อ้างคิดว่าเป็นหมูป่า ยืนยันไม่ได้มีปัญหาหรือมีเรื่องกันมาก่อน