รัฐสภา 7 พ.ค.-ก้าวไกล ทำ “งบเงา” คู่ขนาน “ณัฐพงษ์” เผย ศึกษางบฯ 68 ไปครึ่งทางแล้ว วาง 30 คนอภิปราย รอวิป 3 ฝ่ายเคาะจัดสรรเวลา ห่วงตัดงบกลางไปใช้ดิจิทัลวอลเล็ต
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ว่า ได้รับแจ้งมาก่อนหน้านี้แล้ว จากการทำงานหลังบ้าน ในอนุกรรมาธิการงบปี 68 จึงได้เตรียมความพร้อม ตลอดเวลาและศึกษางบประมาณล่วงหน้า ไว้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งหลังจากนี้มีเวลาอีกประมาณ 1 เดือน ที่อนุกรรมาธิการจะสามารถเรียกข้อมูลจากฝ่ายบริหาร ส่วนที่อยากได้ คือการเพิ่มงบประมาณ โดยเฉพาะตัวเลข ตามพ.ร.บ.งบประมาณ เพราะที่ผ่านมาจะทราบก่อน เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น จึงจะขอให้ได้เร็วที่สุด
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่าสำหรับการทำงานของกรรมาธิการติดตามงบประมาณ จะศึกษาการจัดทำงบฯ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะการจัดทำงบฯปี 2568 เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดทำ 100% เช่น งบประมาณ ที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนภัย ที่มีความซ้ำซ้อนกันระหว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็เป็นตัวอย่างที่กรรมาธิการได้ทำงานในเชิงรุก ให้การแก้ไขปัญหาประชาชน ไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งได้ทำความเห็นส่งไปยังรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว หากยังไม่มีการแก้ไขก็จะถือว่ารัฐบาลบกพร่อง ฝ่ายค้านก็จะอภิปรายเต็มที่
ส่วนการเตรียมความพร้อมการอภิปรายของพรรคก้าวไกล นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการ ประชุมภายในพรรค คาดว่าจะมีผู้ขออภิปรายประมาณ 20-30 คน ซึ่งขึ้นอยู่ที่วิป 3 ฝ่ายจะจัดสรรเวลา
“โดยเวทีอภิปรายงบฯปี 2568 เป็นเวทีที่พรรคก้าวไกลได้เตรียมความพร้อม กรณีอาจได้เป็นรัฐบาลในอนาคต โดยได้จัดทำงบประมาณเงา หรือ งบเงา ที่ลงไปทำการบ้าน เพื่อดูรายละเอียด งบประมาณของแต่ละหน่วยงานที่เสนอมา หากพบว่าไม่จำเป็น ในฐานะฝ่ายบริหารก็ควรจะต้องตัดออก เพื่อจัดสรรให้ในส่วนที่จำเป็น และตอบสนองปัญหาของประเทศมากกว่า”นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ ยอมรับว่า กังวลในส่วนงบกลางของงบประมาณปี 2568 ที่จะถูกนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งได้มีข้อสังเกตส่งกลับไปยังหน่วยงานแล้วว่า มีการตีความบิดเบือนทางกฎหมาย เพราะตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังมีการระบุไว้ชัดเจนว่าสัดส่วนงบลงทุนต้องไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 20 และต้องไม่ต่ำกว่าส่วนที่ชดเชยการขาดดุล
“แต่พอมีการปิดงบปี 2568 เพื่อนำไปทำในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 150,000 ล้านบาท กลับมีการระบุว่างบดังกล่าว เป็นงบลงทุนจำนวน 80% จึงขอตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาลว่า รู้ได้อย่างไรว่าประชาชนจะนำ เงิน10,000บาทดังกล่าวไปใช้ในการลงทุน หรือใช้ในรายจ่ายประจำ ซึ่งเรื่องนี้ถ้ารัฐบาลเดินหน้าต่อแบบนี้โดยปราศจากการออกมาทำความชัดเจนให้เกิดขึ้น ก็เสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย หากมีคนไปร้องในภายหลัง”นายณัฐพงษ์ กล่าว
สำหรับสิ่งที่ก้าวไกลจะจับตาในการจัดสรรงบฯ ปี 2568 นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นปัญหาที่เคยได้ยินมาอยู่แล้วทุกปี แต่ปีนี้อาจจะมีความพิเศษคืองบประมาณของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมไปถึงงบประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ที่รัฐบาลนำงบหลวงมาใช้ในการโปรโมทตัวเอง ซึ่งปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่การจัดทำงบเงาของพรรคก้าวไกล จะเป็นการศึกษารายละเอียดงบที่ไม่จำเป็น ว่าควรจะนำไปทำอะไรที่จำเป็นมากกว่าด้วย.-312.-สำนักข่าวไทย