โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น 10 เม.ย.- ประธานศาลฯ ย้ำหน้าที่สำคัญคือพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ปกป้องสิทธิของปชช. สร้างบรรทัดฐานฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ พร้อมปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาพิเศษในการประชุมทางวิชาการประจำปี เนื่องในโอกาส 26 ปี แห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ หัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” โดยย้ำถึง บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา มีหน้าที่หลักในการดูแลสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และพิทักษ์รักษาความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ควบคุมไม่ให้กฎหมายใด ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ วินิจฉัยชี้ขาด กรณีมีปัญหาที่ต้องตีความตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง วินิจฉัยคดีที่เกิดจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในมุมการเมืองการปกครอง มีหลักการประเพณี คุณค่า การจัดวางโครงสร้างปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจ ซึ่งเป็นส่วนที่มีการตีความได้จากรัฐธรรมนูญหรือจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จะยึดหลักสำคัญ 4 ประการ คือ กฎหมายต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม ไม่มีผลย้อนหลัง โดยเฉพาะการลงโทษทางอาญา รวมทั้งการเรียกบุคคลมารายงานตัว ในกฎหมายที่ผ่านพ้นไปแล้ว กฎหมายต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิของประชาชนจนเกินกว่าเหตุ เป็นหลักการใหม่ที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และถือเป็นเครื่องมือ สำคัญหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้ ประกอบการวินิจฉัย คดีการปกครองท้องที่, พ.ร.บ.การเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น
ประการที่ 3 การตรากฎหมาย ต้องไม่กระทบกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ทั้งสิทธิในร่างกายของเพศหญิง สิทธิตามธรรมชาติขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สิทธิในการถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาในการยุตติการทำแท้งไม่พร้อม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และอีกหลายประเด็น
และ ประการสุดท้าย การตรากฎหมายจะต้องระบุถึงเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล กฎหมายต้องบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายเพื่อกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตามตลอด 26 ปีที่ผ่านมา มีคำร้องส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย รวม 1,881 คำร้อง มีคำวินิจฉัยไปแล้ว 812 คำวินิจฉัย และมีคำสั่ง 1,047 คำสั่งนอกจากนี้ยังมีคดีร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ 586 คำร้อง ศาลมีคำวินิจฉัย 6 คำวินิจฉัย และมีคำสั่ง 570 คำสั่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงยืนหยัดรักษาความชอบธรรมของการปกครองระบอบประชาธิปไตย รักษาความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ รักษาระบอบการเมืองการปกครองและคุณค่าตามที่รัฐธรรมนูญ รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ คุ้มครองสิทธิของประชาชน และเมื่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ศาลรัฐธรรมนูญก็จะปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลเช่นกัน.-312.-สำนักข่าวไทย