ทำเนียบรัฐบาล 9 เม.ย.- ครม. เคาะหลักการ ยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นการชั่วคราว 15 เม.ย.- 15 ต.ค.2567
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการการขอยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม. 6) ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 15 เมษายน 2567 – 15 ตุลาคม 2567
นายคารม กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ยกร่างประกาศ มท. เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 – 15 ตุลาคม 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคม 2567 อีกทั้งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และลดความแออัดบริเวณหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง ดังนี้
1.ขยายให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 เป็นการชั่วคราวต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 – 15 ตุลาคม 2567
2.กำหนดให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก ได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบ ตม. 6 จำนวน 7 ด่าน ได้แก่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ. หนองคาย ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร ด่านตรวจคนเข้าเมืองคลองลึก จ.สระแก้ว ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโกลก จ. นราธิวาส ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จ. ยะลา และด่านตรวจคนเข้าเมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา
3.กำหนดให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำที่เดินทางมากับเรือสำราญและกีฬา ได้รับการยกเว้นการยื่นแบบ ตม. 6 จำนวน 5 ด่าน ดังนี้ (กำหนดเพิ่มเติม) ตรวจคนเข้าเมือง จ.ภูเก็ต ตรวจคนเข้าเมืองจ. ระยอง ตรวจคนเข้าเมือง จ. ชลบุรี ตรวจคนเข้าเมือง จ. กระบี่ และตรวจคนเข้าเมือง จ.สุราษฎร์ธานี
โดยที่แบบ ตม. 6 เป็นเอกสารที่เก็บข้อมูลของคนต่างด้าวเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและติดตามคนต่างด้าว เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของประเทศ จึงมอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับกำกับติดตามและประเมินผลกระทบจากการออกประกาศ มท. ฉบับนี้ภายหลังครบระยะเวลาที่ประกาศไว้ (6 เดือน) ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อ ครม. พิจารณายกเลิกประกาศ มท. ดังกล่าวต่อไปได้.-317.-สำนักข่าวไทย