รัฐสภา 4 มี.ค.-”พล.ต.อ.พัชรวาท” ตอบกระทู้ถามสว. แจงโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ไม่ใช่ให้สัมปทานเอกชน – แต่ไม่ตอบกระทู้ถามสดมาตรการป้องกันบุกรุกอุทยานแห่งชาติ
การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (4 มี.ค.) ก่อนการประชุม นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้แจ้งเหตุการถึงแก่อนิจกรรม ของพล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง สมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ และนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา เมื่อ 2 มีนาคม 2567 พร้อมขอให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมกันยืนไว้อาลัยถึงการถึงแก่อนิจกรรมของสมาชิกวุฒิสภาทั้งสอง
ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภามีวาระพิจารณากระทู้ถาม ที่สมาชิกตั้งถามรัฐบาลหลายเรื่อง เช่น เรื่องติดตามผลการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อกำหนดรายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การปรับโครงสร้างการบริหารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 เรื่องการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนให้เอกชนปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต และเรื่องผลกระทบจากนโยบายลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งพิจารณาเรื่องด่วน เลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวุฒิสภาในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา แทนตำแหน่งที่ว่าง (ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554)
ที่ประชุมยังมีวาระพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว รวม 3 เรื่อง ได้แก่ รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การพัฒนาศักยภาพโลจิสติกส์ด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศของไทย เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการเสริมสร้างความมั่นคงเชิงพื้นที่ : แผนตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้เป็นรูปธรรม และเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์กับการแก้ปัญหาความยากจน เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา นายศุภชัย แจ้งที่ประชุมว่าวันนี้(4มี.ค.) มีกระทู้ถามเป็นหนังสือ 4 กระทู้ แต่ปรากฎว่า มีรัฐมนตรีที่มาตอบกระทู้ 2 กระทู้ คือ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งวดล้อม ตอบกระทู้ถามของนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา ถึงโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต
พล.ต.อ.พัชรวาท ชี้แจงว่า ที่มาของโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต เนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุม COP26 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยมีหลักเกณฑ์ว่า พื้นที่ป่าชายเลน จะต้องเป็นของรัฐ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นเจ้าของโครงการ ควบคุมกำกับดูแลและติดตามประเมินโครงการ ไม่ใช่การอนุญาตสัมปทาน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน และเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มความหลากหลายทางระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
“ให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ และเอกชน มีส่วนช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากป่าชายเลน ซึ่งการดำเนินโครงการ มีการประกาศเชิญชวนผู้สนใจร่วมโครงการผ่านเว็บไซด์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งบริษัทเอกชน และภาคเอกชน มูลนิธิต่าง ๆ รวม 14 ราย และผู้เข้าร่วมโครงการเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ และจะได้รับผลตอบแทนเพียงสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ตามที่ระเบียบกำหนดเท่านั้น” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ไม่ใช่การอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินโครงการในลักษณะสัมปทานป่าไม้ แต่เป็นการอนุญาตให้ร่วมดำเนินโครงการกับกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งเท่านั้น โดยชุมชน ยังสามารถเข้าใช้ประโยชน์ เพื่อจับสัตว์น้ำ หาของป่า ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ กิจกรรมสาธารณประโยชน์ได้ตามปติ โดยจะต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ
จากนั้น นายกฤษดา จีนะวิจารณะ รัฐมนตนีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกระทู้ถามเรื่องผลกระทบจากนโยบายลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางประเภท ว่า การลดภาษีกลุ่มสุราพื้นบ้าน เป็นนโยบายในการส่งเสริมสุราพื้นบ้านยกระดับสู่สากลและส่งเสริม เศรษฐกิจชุมชน มาตรการนี้ได้ส่งเสริมวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยโดยกระทรวงการคลังได้ปรับปรุงอัตราภาษี ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้การผลิตสุราให้มีมาตรฐานมากขึ้นหลังจากการควบคุมแล้วได้ตรวจวิเคราะห์จากกรมสรรพสามิต เพื่อไม่ให้พบวัตถุปนเปื้อนหรือสารเจือปน และเพื่อเป็นยกระดับสุราพื้นบ้านที่เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ นอกจากจะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจยังแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสุราผิดกฎหมาย รวมถึงสุราที่อยู่นอกระบบก็จะเข้ามาอยู่ในระบบเพื่อดูแลคุณภาพและการจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งนี้จากการรวบรวมสถิติของกรมสรรพสามิตในการเก็บภาษีสุราพื้นบ้าน เช่น สาโทจัดเก็บภาษีได้ 20 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการจัดเก็บแอลกอฮอล์ทั้งหมด ที่จัดเก็บได้ปีละประมาณ 1.5 แสนล้านบาท นี่จะเป็นสัดส่วนที่น้อยจึงอยากนำเข้ามาอยู่ในระบบและควบคุมเรื่องของคุณภาพ
ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างภาษี นายกฤษฎา กล่าวว่า ยึดหลักตามหลักดูแลสุขภาพความเป็นธรรม เท่าเทียม สำหรับการป้องกันปราบปรามเพื่อให้สินค้าสุราเข้าสู่ระบบภาษี และได้รับการตรวจสอบให้น้ำสุราเป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะช่วยลดแรงจูงใจในการลักลอบสินค้าผิดกฎหมาย ทำให้เข้ามาอยู่ในระบบผิดสิ่งที่มีคุณภาพ ไม่มีสารเจือปน ทั้งนี้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตมุ่งเน้น ปราบปรามของผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์ สินค้าเหล่านี้ก็มีอยู่ในระบบ
“คาดการณ์การจัดเก็บรายได้ครั้งนี้จากมาตรการดังกล่าวจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้จากแอลกอฮอล์มากขึ้น 900 ล้านบาท ซึ่งเรามีระบบแนะนำราคาขายปลีก ส่งผลให้สินค้าแต่ละขวดราคาปัจจุบันและปรับสูงขึ้นแม้ว่าอัตราการจัดเก็บภาษีจะลดลงจาก 10% เป็น 5% และกรมสรรพสามิตมีฐานราคาที่เป็นปัจจุบัน ทำให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นกว่าเดิมและจากมาตรการดังกล่าวโดยทำให้การจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น มีเงินเข้ากองทุนสนับสนุนต่าง ๆ เช่น สสส. กองทุนด้านกีฬา กองทุนผู้สูงอายุ ไทยพีบีเอส” นายกฤษฎา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุม นายรณฤทธิ์ ปรยฉัตรตระกูล สมาชิกวุฒิสภา ขอตั้งกระทู้ถามสดเรื่อง มาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และป่าไม้ต่อพล.ต.อ.พัชรวาท แต่ประธานในที่ประชุมแจ้งว่า เนื่องจากรัฐมนตรีติดภารกิจสำคัญ ไม่สามารถตอบกระทู้ถามสดในวันนี้ (4 มี.ค.) ได้ จึงทำให้กระทู้ถามสดดังกล่าวต้องเป็นอันตกไป.-316.-สำนักข่าวไทย