ทำเนียบ 1 มี.ค.- รัฐบาลห่วงเด็กจมน้ำช่วงปิดเทอม แนะผู้ปกครองดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด ชุมชนร่วมเฝ้าระวัง หากต้องการความช่วยเหลือโทร 1669
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงนี้หลายๆ โรงเรียนใกล้ปิดภาคเรียนแล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อเด็กนักเรียนหยุดอยู่บ้าน อาจไม่มีผู้ดูแลเด็กเหมือนกับช่วงที่ไปโรงเรียน อาจชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วเกิดพลัดตก ลื่น หรือจมน้ำเสียชีวิตได้ ฝากเตือนผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ไม่ควรปล่อยให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำได้เองตามลำพัง เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เด็กอาจจมน้ำเสียชีวิตได้
“ขอให้พ่อ-แม่ ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือไม่ควรปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพังแม้จะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือที่คุ้นเคยก็ตาม หากพาเด็กไปประกอบอาชีพใกล้แหล่งน้ำ ควรให้เด็กอยู่ในระยะที่แขนเอื้อมถึงตัวเด็ก ขอความร่วมมือชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป้องกันเด็กจมน้ำ เฝ้าระวัง สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน ติดตั้งป้ายแจ้งเตือน พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่เป็นวัสดุท้องถิ่นลอยน้ำได้ไว้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งน้ำและทะเล ผู้ให้บริการ หน่วยงานท้องถิ่นควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard) ดูแลตลอดเวลา” นายคารม กล่าว
นายคารม กล่าวถึง แนวทางการป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กเล็ก และกลุ่มเด็กโต มีดังนี้ สำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี แนะนำใช้มาตรการ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ดังนี้ 1.อย่าเข้าใกล้ แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ 2.อย่าเก็บ สิ่งของที่ตกลงไปในน้ำด้วยตนเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ 3.อย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มลงไปในน้ำได้ ส่วนกลุ่มเด็กโต เน้นห้ามไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจะถูกกอดรัดจากผู้ประสบภัย และอาจจมน้ำ และเสียชีวิตไปพร้อมกัน ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ 1.ตะโกน: คือ เรียกให้คนมาช่วย ขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือ รพ.ใกล้เคียง 2.โยน: คือ การโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ 3.ยื่น: คือการยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ.-316.-สำนักข่าวไทย