รัฐสภา 27 ก.พ.-วุฒิสภาเห็นชอบรายงานชาวโรฮีนจา-อุยกูร์ หลบหนีเข้าเมือง พร้อมส่งความเห็นของคณะกรรมาธิการและข้อเสนอแนะของสมาชิกวุฒิสภาให้ ครม.รับทราบดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภาวันนี้ มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองของไทย กรณีศึกษา : ชาวโรฮีนจา และ ชาวอุยกูร์ ที่คณะกรรมาธิการการทหาร และความมั่นคง ของรัฐพิจารณาเสร็จแล้ว โดยพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่าสถานการณ์ผู้หลบหนีเข้าเมืองของประเทศไทยยังคงน่ากังวล เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศปลายทางของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยชาวโรฮีนจา และ ชาวอุยกูร์ มักเชื่อมโยงกับกระบวนการค้ามนุษย์ที่แสวงหาประโยชน์ก็หลบหนีเข้าเมือง หากขาดแผนบริหารจัดการที่ดีจะส่งผลต่อมิติด้านความมั่นคง และการเมืองของประเทศได้
ด้านนายถวิล เปลี่ยนศรี ประธานคณะอนุกรรมธิการศึกษาปัญหาความมั่นคงแบบองค์รวม ได้กล่าวถึงสถานการณ์ผู้หลบหนีเข้าเมืองในปัจจุบันว่ามีอยู่ 4 ประเภทคือ กลุ่มปัญหาสถานะสิทธิของบุคคล , กลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย , กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองที่เปราะบางต่อความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมือง อื่นๆ
นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า ประเทศไทยถือเป็นม้าอารี ที่ห่วงหน้าตามากกว่าความปลอดภัยของประชากรในประเทศ ที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าวได้ ซึ่งรายงานเหล่านี้เริ่มที่จะมีปัญหาในเรื่องของการปล่อยเงินกู้ อิทธิพล และปัญหาอาชญากรรมตามมา ซึ่งไม่รวมถึงการเข้ามาใช้ทรัพยากรที่เป็นสมบัติของประชาชนชาวไทย ซึ่งหากไม่รีบแก้ปัญหาเหล่านี้ จะเกิดปัญหาที่สำคัญตามมาและอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ด้านพล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า รายงานฉบับนี้ถือเป็นรายงานที่มีประโยชน์และสำคัญมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องชาวโลฮีนจา ที่เข้ามาตามด่านชายแดนต่างๆ หากรัฐบาลดำเนินการไม่ดี จะทำให้องค์กร นานาชาติต่างๆที่จับตาในเรื่องนี้อยู่ อาจหยิบประเด็นดังกล่าวมาเป็นมาตรการมาสกัดกั้นหรือจัดการกับประเทศไทยได้
จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบต่อรายงานรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองของไทย กรณีศึกษา : ชาวโรฮีนจา และ ชาวอุยกูร์ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วซึ่งจะส่งให้คณะรัฐมนตรีนำรายงานไปพิจารณาต่อไป.-312.-สำนักข่าวไทย