รัฐสภา 9 ม.ค.- “สถิตย์” แนะรัฐบาลเรียก ก.คลัง-สภาพัฒน์ฯ-คกก.วินัยการเงินฯ ตีความวิกฤติเศรษฐกิจ ขอเทียบให้ดีกู้ 5 แสนล้านบาท ทำหนี้สาธารณะพุ่ง แลกกับเศรษฐกิจโต 0.6 คุ้มค่าหรือไม่
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็น ว่า พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท สามารถทำได้ ว่า การที่กฤษฎีกามีความเห็นว่าสามารถทำได้ แต่ต้องไปอยู่ภายใต้เงื่อนไขพ.ร.บการเงินการคลัง มาตรา 53 เกี่ยวข้องกับวิกฤติของประเทศ และมาตรา 57 เกี่ยวข้องกับความคุ้มค่าในการดำเนินการ ซึ่งคำว่าวิกฤติทั่วไปจะต้องเป็นกรณีเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจนและยาวนาน รวมทั้งประเทศเผชิญความยากลำบาก มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ ความรุนแรง ระยะเวลาการชะลอตัวที่ยาวนาน รวมถึงขอบเขตของผลกระทบเป็นวงกว้างและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในภาคส่วนต่างๆ และมีปัญหาความไม่มั่นคงทางการเงิน เช่น ความล้มเหลวของธนาคารหรือราคาสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจจะมองแค่ว่าการชะลอเศรษฐกิจหลายไตรมาสติดต่อกัน หรือเทียบระหว่างไตรมาสนี้ปีนี้กับไตรมาสนี้ของปีที่แล้ว ถ้าติดลบก็ถือว่าวิกฤติ จึงอยู่ที่คำนิยาม ว่าจะเป็นอย่างไร
“ทางที่ดีรัฐบาลควรเรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจ ของประเทศ การคลัง สภาพัฒน์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปรึกษาและตกลงกันว่า คำว่านิยามเศรษฐกิจตามความหมายของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเป็นอย่างไร ถึงขั้นวิกฤติหรือยัง เพราะถ้าไม่ให้ชัดเจนก็สุ่มเสี่ยงจะมีการโต้แย้งวิวาทะทางวาจาและทางคดีมากมาย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต” นายสถิตย์ กล่าว
นายสถิตย์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องความคุ้มค่า ต้องดูว่ากระทบต่อหนี้สาธารณะมากน้อยเพียงใด เพราะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ร้อยละ 3.2 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ว่า หากมีการเติมเงิน 5 แสนล้านบาท เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.8 แปลว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.6 แต่ในทางกลับกันต้องประเมินถึงสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 62.4 ของ GDP แต่หากมีการกู้เงินอีก 5.6 แสนล้านบาท จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 64 – 65 รัฐบาลต้องเทียบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้น 0.6 จะคุ้มค่ากับการเสียพื้นที่ทางการคลังจากหนี้สาธารณะที่ขยับตัวขึ้นหรือไม่
ส่วนรัฐบาลควรทบทวนการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทหรือไม่ นายสถิตย์ กล่าวว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ระบุไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณที่มีอยู่ได้ สามารถออกเป็นพ.ร.บ. เงินกู้ได้ ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลให้เป็นการเติมเงิน 500,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและจะส่งผลให้เศรษฐกิจโตขึ้นประมาณ ร้อยละ 3.2 แต่หากใช้งบประมาณประจำปีปกติ จะไม่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ.-312.-สำนักข่าวไทย