ทำเนียบรัฐบาล 12 ธ.ค.-รัฐบาลเริ่มมาตรการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตั้งแต่วันนี้ ระงับทันทีถ้ามีประวัติโทรมากกว่า 100 สายต่อวัน ครอบครองซิมมากกว่า 50 หมายเลข หลังปชช.ถูกหลอกลวง-ดูดเงินจำนวนมาก
นายภูมิธรรม เวชรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(สอท.) และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทรู ดีแทคและเอไอเอสร่วมกันแถลงมาตรการขจัดภัยไซเบอร์ของรัฐบาล ระงับเบอร์โทรต้องสงสัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กสทช.และโอเปอร์เรเตอร์ ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะหลายชาติประสบปัญหาอย่างเดียวกันรูปแบบเดียวกัน โดยผู้ก่ออาชญากรรมซ่อนอยู่ในที่ต่าง ๆ จึงต้องบูรณาการเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันหาทางออก
นายประเสริฐ กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์เอโอซี 1441 มีการร้องทุกข์ประมาณ 80,000 สาย ซึ่งเป็นตัวเลขจำนวนมาก ต้องมีมาตรการเข้มข้นจัดการกับผู้ที่ต้องสงสัยเข้ามาหลอกลวง โดยพุ่งเป้าไปที่หมายเลขโทรศัพท์ที่โทรออกจำนวนมากผิดปกติใน 1 วัน เช่น 100 ครั้งถือว่าน่าสงสัย โดยข้อมูลล่าสุดระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม พบว่าโทร 100 สายขึ้นไปในเครือข่ายเอไอเอส 3,927 สาย ทรูเฮช 4,339 สาย ทรูดีทีเอ็น 4,051 สาย จึงกำหนดการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์เอโอซี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายฯ 3 กรณี
“1. เมื่อตรวจสอบพบว่ามีหมายเลขโทรศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ทางเอโอซีจะแจ้ง ให้บริการโทรศัพท์ หรือโอเดี๋ยวโอเปอร์เรเตอร์ ยกเลิกหมายเลขบริการดังกล่าวโดยทันที อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นฐานอำนาจให้ผู้บริการโทรศัพท์พร้อมดำเนินการ 2.ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตรวจสอบหมายเลขอื่น ของผู้ใช้บริการ ที่เป็นหมายเลขที่ใช้กระทำความผิด และให้แจ้งผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็นเจ้าของหมายเลข ขยายผล ตรวจสอบ หากพบผิดปกติให้ระงับบริการ แต่ถ้าจะพิสูจน์ตน ต้องมารายงานตัว หากใช้งานเกิน 100 สายต่อวัน ให้มีหนังสือไปถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระงับเลขหมายต้องสงสัย หากพบการโทรออกมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จากนั้นให้ติดต่อเจ้าของเบอร์เพื่อมาแสดงตนใน 7 วัน หรือหากแสดงตนแต่ไม่สามารถชี้แจงการใช้งานได้ ให้แจ้งเอโอซี เพื่อสืบสวนการใช้งานต่อไป และ 3. ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องรายงานข้อมูลต่อรัฐทุกเดือน หรือตามความเหมาะสม รวมถึงการจัดทำข้อมูลผู้ให้บริการคอลเซ็นเตอร์อย่างแท้จริงด้วย ซึ่งต้องมาแสดงตนและเอกสารมายืนยันภายใน 15 วัน ก่อนใช้มาตรการโทรมากผิดปกติ มาตรการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้(12 ธ.ค.)” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่นำข้อมูลประชาชนออกไปขายว่า มีคณะกรรมการคุ้มครองรักษาความปลอดภัย ทางด้านข้อมูลที่ตรวจสอบตลอดเวลา ส่วนหน่วยงานใดที่อาจถูกแฮกข้อมูล ทางกระทรวงดีอีเอสพร้อมตรวจและพยายามแก้ไขตลอดเวลา โดยตรวจสอบร่วมกับตำรวจและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และมีการยืนยันตัวตน จากการตรวจสอบหน่วยงาน 9,000 กว่าแห่ง ดำเนินการเรียบร้อยแล้วกว่า 5,000 แห่ง หากหน่วยงานไหนพบสิ่งปกติพร้อมตรวจสอบ ทั้งนี้ กระทรวงเรียกประชุมหน่วยงานภาครัฐ 85 หน่วยงาน และเชิญภาคเอกชนที่มีฐานข้อมูลในมือจำนวนมาก มาทำความเข้าใจ และขยายผลการจับกุม ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐต้องรักษาฐานข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
ด้านนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมกสทช. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหมายเลขทั้งหมด 12,500 หมายเลขที่ใช้การโทรออกและรับสายมากกว่า 100 ครั้ง จะถูกระงับการใช้จนกว่าจะรายงานตัว เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นการใช้บริการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งทาง กสทช.ได้ตังหน่วยเฉพาะกิจ เพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบการ เพื่อเป็นไปตามนโยบายที่เคร่งครัด พร้อมทั้งดำเนินการตามแผนขั้นที่ 2 ที่จะตัดวงจรและตามไล่อุปกรณ์ เสาสัญญาณเถื่อน ปรับปรุงด้านความปลอดภัยทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีของโครงสร้างพื้นฐาน ของโทรคมนาคมตามชายขอบ มีบุคคลกว่า 14,500 คน ที่มีอยู่ซิมมากกว่า 50 ซิม ภายใต้ชื่อเดียวกัน รวมแล้วอาจมีถึง 6 ล้านเลขหมาย
“อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทาง กสทช.ก็จะดำเนินการสื่อสารให้เจ้าของ หมายเลขดังกล่าวมาขึ้นทะเบียนยืนยันตัวตน ตามที่ระยะเวลากำหนดไว้ และอาจจะต้องมีการระงับบางส่วน หากพบว่าใช้ซิมอย่างผิดกฎหมาย ส่วนผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ คือประชาชนทั่วไป ขอให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะมีพฤติกรรมเช่นนี้จำนวนมาก ซึ่งพบว่ามีการใช้ซิมและโทนจำนวนมาก รัฐบาลไม่อยากเห็นประชาชนตกเป็นเหยื่อได้ ซึ่ง กทสช. ก็จะดูแลให้ผู้ประกอบการ ให้ควาวมร่วมมือ” นพ.สรณ กล่าว
นายมนัส มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์เปอร์เรชั่น กล่าวว่า ยินดีช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของประชาชน โดยจะให้ความร่วมมือทุกเรื่องอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบและจัดทำแผนตามที่กสทช.ประสานความร่วมมือ และให้ความสำคัญกับไซเบอร์ไซเคอริตี้ มีมาตรการที่ชัดเจน ส่วนเรื่องการลงทะเบียนจะกลั่นกรองตามระเบียบของภาครัฐทั้งพฤติกรรมการโทรแปลก พร้อมช่วยแกะรอยกลุ่มบุคคลที่ทำผิดกฎหมาย
ด้านผู้บริหารเอไอเอส กล่าวว่า ยินดีช่วยงานภาครัฐ โดยมีโครงการอุ่นใจไซเบอร์ดูแลประชาชน.- 314.-สำนักข่าวไทย