มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 15 ก.ค.-สมชัย ระบุ รธน.ม.210 กกต.มีช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.ป.กกต.ได้ สัปดาห์หน้าเตรียมสรุปความชัดเจน ยืนยันไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ต้องการให้เกิดบรรทัดฐาน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำพิธีปิดการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 43 โดยการอภิปรายสาธารณะ เรื่อง “บทบาทคณะกรรมการการเลือกตั้งภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บมจ.มติชน ร่วมอภิปราย
นายสมชัย กล่าวว่า การกำหนดให้กกต.จัดการเลือกตั้งให้แล้วต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต เพราะยังไม่ได้เผื่อเวลาการให้ใบเหลือง-ใบแดง ซึ่งหากกกต.ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดเวลาจะทำให้กกต.ต้องโทษทางคดีอาญา จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอความเห็นจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่กลับไม่ได้รับคำตอบ
“ส่วน ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คงต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายว่าจะได้ข้อยุติอย่างไร โดยเฉพาะระบบไพรมารีโหวต ที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของ กกต. รวมถึงต้องจับตาดูการร่างกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับคือร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส.และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ว.ที่ กกต.ไม่เห็นด้วยกับการจับสลากกลุ่มของ ส.ว. ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับจะส่งเข้าพิจารณาประมาณเดือนที่ 8 หรือเดือนธันวาคม” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวถึงกรณีสนช.ระบุว่ากกต.ไม่สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่า ร่าง พ.ร.ป.กตต.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า เมื่อเปิดรัฐธรรมนูญมาตรา 210 เรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะรู้ว่ามีช่องทางที่ กกต.สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมายได้ ซึ่งการที่นักกฎหมายพูดลักษณะนี้ทำให้สังคมสับสนได้ ขณะที่ประชาชนคงไม่สามารถเข้าใจกฎหมายได้ลึกซึ้งทั้งหมด ดังนั้น วันนี้นักกฎหมายต้องมีจุดยืน ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นกลางเพื่อสังคม เพราะกฎหมายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลง
“การเซ็ตซีโร่กกต.หลายคนมองว่ากกต.เดือดร้อน แต่ที่จริงแล้วเราไม่ได้รู้สึกยินดีหรือเสียใจ เพราะภาระการเป็นกกต. ขาข้างหนึ่งอยู่ในคุก เงินค่าตอบแทนไม่ได้มากมายกว่าการเป็นนักวิชาการ แต่ทำไมกกต.ชุดนี้จำเป็นต้องยื่นเรื่องให้ศาลตีความร่างกฎหมาย เพราะต้องการบอกต่อให้คนรุ่นหลังรู้ถึงหลักการปฏิบัติของกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐาน เพื่อความกระจ่างชัด ไม่ใช่การร่างกฎหมายเพื่อความอยากจะได้มา และยืนยันว่าไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง เราอยู่หรือไม่ ไม่สำคัญ แต่บ้านเมืองจะต้องอยู่บนหลักนิติธรรม และในสัปดาห์หน้า กกต.จะประชุมสรุปความชัดเจนการยื่นตีความร่าง พ.ร.ป.กกต.” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า กรณีการเพิ่มกกต.เป็น 7 คนตามรัฐธรรมนูญใหม่เป็นเรื่องดีไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย ซึ่งขณะนี้ได้จัดเตรียมห้องทำงานสำหรับกกต.ใหม่อีก 2 คน ส่วนการที่ปรับเปลี่ยนให้กกต.ทำงานเป็นบอร์ด จากเดิมที่แบ่งการดำเนินงานแต่ละด้านถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งตัวสำนักงานกกต.จะต้องมีความเข้มแข็งเพราะเรื่องทุกอย่างจะต้องส่งตรงไปยังสำนักงาน โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่คุ้นชินกับการทำงานแบ่งเป็นด้านมานานนับ 10 ปี จึงมองว่าการจะเปลี่ยนรูปแบบครั้งนี้จะส่งผลดีหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ว่าการปรับแก้เนื้อหา ร่างพ.ร.ป.กกต.จะมีผลอย่างไร แต่หากไม่ดีแล้วใครจะรับผิดชอบ
ด้านนายสมหมาย กล่าวว่า เห็นด้วยที่กกต.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.ป.กกต. เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับองค์กรอิสระอื่น ๆ ให้เกิดความเท่าเทียมว่า การเขียนกฎหมายจะยึดหลักเจตนารมย์การปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญตามที่กรธ.ชี้แจงหรือไม่ เพราะหากยึดตามหลักเจตนารมย์ที่ต้องการปฏิรูป องค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) อาจถูกยุบหรือเซ็ตซีโร่เช่นกัน.-สำนักข่าวไทย
