ตาก 11 พ.ย. – “พิธา” เยือนพบพระ-แม่สอด รับฟังปัญหาเด็กรหัสจีและการค้าชายแดน ให้คำมั่น “ก้าวไกล” พร้อมผลักดันแก้ปัญหา มองเป็นโอกาสของอาเซียนที่ต้องพัฒนาร่วมกัน
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยคณะ สส. จากจังหวัดตาก และ สส.บัญชีรายชื่อ ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านแม่ปะเหนือ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 297 คน คิดเป็นเด็กสัญชาติไทย 20% เด็กเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยง จำนวน 20% และเด็กมุสลิมเมียนมา 60% นักเรียนเมียนมาบางส่วนยังไม่ได้รับรหัสเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา (รหัส G) โดยสถานการณปัจจุบัน เด็กรหัส G ทั้งประเทศมีทั้งสิ้น 120,000 คน มีเพียง 30,000 คนที่ได้รับเลข 13 หลักแล้ว
ทั้งนี้ จังหวัดตาก เป็นจังหวัดที่มีลูกหลานแรงงานข้ามชาติหนาแน่นที่สุดในประเทศไทย มีการจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียนรัฐบาล และศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติสำหรับนักเรียนที่ไม่ได้เข้าระบบโรงเรียน (หรือ Migrant Learning Center) มากกว่า 64 แห่ง
พิธากล่าวระหว่างประชุมรับฟังปัญหาว่า หลังจากเดินทางมาเยี่ยมชมโรงเรียนแม่ปะเหนือ ตนเห็นกระบวนการการทำงานของโรงเรียน และทราบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการจัดการกับปัญหาและช่วยเหลือเด็กๆ เห็นว่ามีการทำงานกันมาโดยตลอดในการช่วยเด็กนักเรียนไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไหน กลุ่มที่ 1 คือโรงเรียนรัฐ กลุ่มที่ 2 คือศูนย์การเรียนรู้ (หรือ MLC) ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีข้อดีต่างกัน หากอยู่ในโรงเรียนในระบบ เด็กจะสามารถเติบโตและใช้ชีวิตในประเทศไทยได้ง่ายกว่า ขณะที่ MLC จะยืดหยุ่นมากกว่าในการรับเด็กที่เกินอายุ หรือเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตน หรือเด็กที่เข้ามาในช่วงเวลาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ช่วงที่โรงเรียนรับสมัคร
พิธากล่าวว่า ตนได้รับเรื่องแล้ว จะนำไปคิดร่วมกับ ครูจวง ปารมี ไวจงเจริญ ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย หรือ “เด็กรหัส G” ซึ่งญัตติดังกล่าวถูกสภาฯ ปัดตก ไม่ได้รับความเห็นชอบ ขณะเดียวกัน ต้องขอชื่นชมความพยายามของชาวแม่สอดที่มีการตั้งศูนย์ประสานงานในการรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน และสามารถจัดการศึกษาได้ตามแนวคิด Education for all ได้เป็นอย่างดี แม้จะมีข้อจำกัดหลายประการ
พิธา ทิ้งท้ายว่า ในมุมมองของพรรคก้าวไกล เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศไทยหรือประเทศเมียนมาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประชาคมอาเซียน ในอดีตการบริหารกิจการชายแดน จะคิดในกรอบความมั่นคงระดับชาติ (National Security) แต่สำหรับตน มองว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) โดยเฉพาะหากมองว่าเราเป็นประชาคมอาเซียนที่มีอาณาเขตติดกัน รวมถึงเศรษฐกิจของไทย หากไม่มีพี่น้องชาวเมียนมา ลาว มาทำงาน เศรษฐกิจไทยก็ไปต่อไม่ได้ พรรคก้าวไกลจึงไม่เคยมองว่าเรื่องของพี่น้องในประเทศเพื่อนบ้านเป็นภาระของเรา แต่มองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาอาเซียนไปด้วยกัน
พิธากล่าวต่อว่า ผู้นำประเทศควรมองเห็นโอกาส ในมุมสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประเทศไทยต้องโอบรับสนับสนุน เป็นโอกาสที่จะทำให้เด็กไทยได้อยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม สำหรับพรรคก้าวไกลหวังว่าจะมีโอกาสได้ขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างยั่งยืนต่อไป
พร้อมกันนี้ พิธา และ ทีม สส. ร่วมเยี่ยมชมการเรียนการสอนของห้องเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนแม่ปะเหนือ รวมถึงทักทายครูประจำและเด็กนักเรียนในโรงเรียน
ระหว่างการเยือนพื้นที่ของพิธาในวันนี้ ปารมี ไวจงเจริญ สส. บัญชีรายชื่อ ได้เดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ (MLC) นิวโซไซตี้ อำเภอแม่สอด ซึ่งมีนักเรียน 186 คน มีหลักสูตรการเรียนเป็น 3 ภาษา คือ ไทย เมียนมา และอังกฤษ โดยนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจะได้วุฒิการศึกษาทั้งของไทยและเมียนมา ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐและไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายของนักเรียน แต่บริหารโดยเงินบริจาคจากชุมชน และองค์กรต่าง ๆ
ปารมี กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน นักเรียนในศูนย์การเรียนรู้ฯ มีแนวโน้มจะศึกษาต่อในประเทศไทยมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสนับสนุนการเรียนการสอนด้วยภาษาไทยเพิ่มขึ้น และมีการช่วยเหลือให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศไทยหรือสามารถศึกษาต่อ เพราะฉะนั้น การเร่งรัดเรื่องการออกเลขประจำตัวของนักเรียนที่ติดรหัส G จึงสำคัญมาก ตนจะพยายามผลักดันผ่านคณะกรรมาธิการการศึกษาฯ ของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป .-สำนักข่าวไทย