อุบลราชธานี 6 ต.ค.-นายกฯ ลุยแก้น้ำท่วมอุบลฯ บอกยังมีเวลาเตรียมการรับมือ ปีนี้ไม่หนักเท่าปีก่อน แนะข้าราชการคิดนอกกรอบ อย่าตั้งเป้าว่าน้ำท่วมใช้บริการทหาร ก่อนขึ้นเสียงกลางวงประชุม ให้เงียบฟังรัฐมนตรี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ติดตามสถานการณ์อุทกภัย โดยมีนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงพื้นที่ด้วย
จุดแรก นายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่สำนักงานชลประทานที่ 7 ฟังสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำจากนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ข้างเคียง มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซึ่งท่วมอีกและท่วมตลอด ตนทราบดีตั้งแต่อยู่ภาคธุรกิจจนเข้าการเมือง มีความเข้าใจและเห็นใจว่าปัญหาใหญ่สะสมมานาน ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีน้ำท่วมที่แพร่และสุโขทัยเยอะมาก เราอยู่ในช่วงเวลาของการเยียวยาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ตามความเข้าใจของตน อุบลฯ เพิ่งเริ่มท่วม ยังไม่ถึงฤดูที่น้ำจะมามาก หากไม่ทำอะไรไว้ก่อนก็อาจจะเกิดวิกฤติขึ้นได้ ซึ่งวิกฤติน้ำท่วมอุบลฯ ไม่ใช่แค่เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม แต่ยังรวมถึงความปลอดภัย ความสะดวกสบาย โรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดที่ตามมาก็จะเป็นเรื่องใหญ่มาก
“รัฐบาลตระหนักดีว่า จะเกิดขึ้นต่อไปอีกไม่ได้ แม้เราเพิ่งเข้ามาบริหารจัดการได้ไม่ถึงเดือน แต่ก่อนลงพื้นที่ ตนก็ได้ไปที่กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์ถึง 2 ครั้ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องยอมรับว่า ตอนนี้ทำได้เฉพาะหน้าก่อน ซึ่งเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาระยะสั้นยังทำได้ดี และทำได้มากกว่าที่เคยทำได้ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน เวลาเราเหลือน้อยสำหรับฤดูนี้ เพราะน้ำฝนกำลังจะมา หากเราทำอะไรได้ ก็ไม่ให้น้ำเยอะเท่าปีที่แล้ว และต้องน้อยลงกว่าเดิมด้วย” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่ช่วยบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม และขอบคุณผู้บัญชาการภาค 2 ที่ดูแลพี่น้องประชาชน อุปกรณ์มีความพร้อม ตนคิดว่าเหนือสิ่งอื่นใด เมื่ออุทกภัยเกิดขึ้นแล้ว เชื่อว่าทุกคน พร้อมตนก็คงไม่ต้องสั่งการ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ พัฒนาระบบเตือนภัย กระจายข่าวสาร ตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้าง ตลอดจนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แนวทางการฟื้นฟู เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว และรายงานความคืบหน้าให้ทราบ อันนี้เป็นเรื่องหลังจากที่เหตุการณ์เกิดขึ้น
“แต่ตนเชื่อและมีความหวังระหว่างนี้ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เราทำกันเต็มที่แล้วหรือยัง ให้กลับมาดูตัวเองนิดนึง และเชื่อว่าทุกคนพยายาม แต่ขอให้คิดนอกกรอบนิดนึง อย่าไปสรุปว่ามันต้องท่วม เราต้องการสะพานจากแม่ทัพภาค 2 ต้องการเรือหรือวิธีการเตือนภัย หากเราคิดและสามารถทำให้ไม่ท่วม หรือให้ท่วมน้อยที่สุด หากท่วมแล้วระบายเร็วที่สุด ตนเชื่อว่าเวลายังพอมีอยู่บ้าง สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นระยะหลังเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม และเพิ่งเพิ่มช่วงเดือนนี้ ดังนั้น ตนคิดว่าช่วงที่แย่ที่สุดยังไม่มา ถือเป็นช่วงที่ดี เรายังมีทางป้องกันได้อยู่ จะต้องมีวิธีการระบายน้ำที่อาจจะต้องใช้คำว่าเสี่ยงนิดนึง และต้องทำให้ดีขึ้นกว่านี้ บางอันไม่พิสูจน์ทราบให้แน่นอน แต่บางทีเราก็ต้องตัดสินใจที่จะทำอะไร เพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยขึ้น แต่ต้องขอขอบคุณทุกท่าน รวมทั้งแม่ทัพภาค 2 ที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขพี่น้องอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าคงไม่ต้องใช้บริการท่าน” นายเศรษฐา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปจากนายเกรียง ปรากฏว่ามีเสียงบางอย่างรบกวน และในห้องประชุมมีการพูดคุยกันเสียงดัง จึงทำให้นายกรัฐมนตรีถึงกับต้องพูดออกไมโครโฟนว่า ขอให้เงียบและฟังรัฐมนตรีบรรยายสรุปด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ไปพบปะประชาชนและมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ สถานีตรวจวัดระดับน้ำ (M7) บริเวณเชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และไปติดตามสถานการณ์อุทกภัยและพบปะประชาชนอำเภอพิบูลมังสาหาร ณ แก่งสะพือ ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับภารกิจที่ จ.อุบลราชธานี นายกรัฐมนตรีใช้รถยนต์อัลพาร์ด สีขาว ทะเบียน กฉ 5454 อุบลราชธานี.-สำนักข่าวไทย