รัฐสภา 29 ก.ย.- กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา จัดเวทีเสวนา “บ้านเมืองไม่สงบ เมื่อไม่เคารพกฎหมาย” รมว.ยุติธรรม ชี้บังคับใช้กฎหมายบางเรื่องต้องมองตามหลักความเป็นจริง ต้องปฏิรูปกฎหมายให้มีความเป็นธรรม
คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จัดสัมมนาในหัวข้อ “บ้านเมืองไม่สงบ เมื่อไม่เคารพกฎหมาย” โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 นายน้ำแท้ มีบุญสล้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด และ พ.ต.อ.รชตโชค ลีวาณิชคุณ ผกก.(สอบสวน) กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (บก.สอท.1) ร่วมการสัมมนา
พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงการวางหลักการเรื่องกฎหมายกระบวนการยุติธรรม ว่า รัฐบาลได้จัดทำนโยบายว่าจะบริหารบ้านเมืองโดยยึดหลักนิติธรรม ซึ่งคำว่าหลักนิติธรรมถูกเขียนเอาไว้ครั้งแรกในปี 2550 และปี 2560 ซึ่งหมายถึง รัฐบาล รัฐสภา ศาลและองค์กรอิสระ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม การที่รัฐบาลนำหลักนิติธรรมมาเขียนไว้ในนโยบาย โดยคำนึงถึงการบริหารงานต่างๆ ที่ใช้งบประมาณที่น้อยที่สุดเป็นการสร้างรากฐานให้กับประเทศ
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวว่า ตนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำว่า บ้านเมืองไม่สงบ เมื่อไม่เคารพกฎหมาย เพราะบางเรื่องไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป หากมองว่ากฎหมายสั่งอะไรต้องทำ หากคิดเช่นนั้นสำหรับประเทศไทยเป็นอันตราย เพราะระบบของกฎหมายไทยมีจำนวนมาก โดยในรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 เขียนไว้ว่า รัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้น มองว่าหากรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด บ้านเมืองอาจจะอยู่ไม่ได้
เช่น กลุ่มกฎหมายป่าไม้ มีทั้งกฎหมายอุทยานฯ อนุรักษ์ป่า สงวนป่าไม้ ซึ่งเรามีพื้นที่ประกาศเป็นแนวป่าไม้ 135 ล้านไร่ แม้แต่คำนิยามว่าป่าในกรมป่าไม้ยังมี 4 นิยาม และคนที่เข้าไปอยู่ในป่ามีถึง 15-17 ล้านคน อีกทั้งเมื่อถามว่ามีป่าเป็นจริงเท่าไหร่ กรมป่าไม้ยังละทิ้งไม่ใช้นิยามคำว่าป่าไม้ของตัวเอง และให้คณะวนศาสตร์ไปใช้นิยามสากล คือ ป่าจากความเป็นจริง ต้นไม้ต้องสูง 3 เมตรเชื่อมต่อกัน ป่าจึงมี 102 ล้านไร่ เหลืออีก 33 ล้านไร่ คือที่คนอยู่ทุกวันนี้ อีกทั้งยังมีทั้งป่าเสื่อมโทรม และป่าทิพย์ที่ไม่มีป่าอยู่จริง ถ้าเราให้เขาเคารพกฎหมาย คนจะไม่มีแผ่นดินอยู่ 10 กว่าล้านคน แล้วคนที่อยู่ ถ้าเราบังคับใช้กฏหมาย 100% คนเหล่านี้ก็จะติดคุกเมื่อไปถึงศาล เพราะเขาสู้รัฐไม่ได้ พร้อมเล่าเหตุการณ์ที่มีการไปจับชาวประมงที่ตะรุเตา ในข้อหาอุทยานฯ ซึ่งปกติในทะเลทั่วไป ถ้าประกาศเขตอุทยานฯ จะไม่เกิน แต่ที่ตะรุเตา ปรากฏว่าอุทยานฯ ไปเอาที่ของราชทัณฑ์ที่ประกาศตั้งคุกไว้ พอเพิ่มเขตอุทยานฯ ก็ยาวไปถึงประเทศมาเลเซีย ทำให้ประมงพื้นบ้านที่จับปลาทุกวันนี้ออกนอกเขตอุทยานฯ แต่พอไปที่ จ.สตูล เขาเหล่านี้กลับเป็นผู้ที่กระทำผิด
“เราต้องเคารพกฎหมายก็มีความสำคัญ แต่ตนขอฝากสภาฯ ว่า เราจะบัญญัติกฎหมายอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ที่สำคัญประชาชนทุกคนต้องใช้ประโยชน์จากกฎหมาย ประชาชนทุกคนต้องได้รับความยุติธรรมจากกฎหมาย และการปฏิบัติตามกฎหมายก็คงทำไม่ได้ทุกเรื่อง ทำให้อาจถูกมองว่ามีการละเมิดกฎหมาย แต่การละเมิดกฏหมายในเรื่องข้อเท็จจริง ตนคิดว่าต้องเปลี่ยนนิยามมาใช้เรื่องความยุติธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งความยุติธรรมตามความเป็นจริง บ้านเมืองต้องอยู่ได้ วันนี้ถึงเวลาที่เราต้องมาปฏิรูปกฎหมายให้มีความเป็นธรรม ซึ่งก็ต้องดูในเงื่อนไขว่า กฎหรือกฎหมายเป็นธรรมหรือไม่” พ.ต.อ.ทวี ระบุ
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวว่า ในเรือนจำมีคนประมาณ 60,000 คน เป็นผู้ถูกขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งในทางปฏิบัติ กลุ่มคนเหล่านี้ต้องอยู่เหมือนนักโทษเด็ดขาด แบบนี้กรมราชทัณฑ์หรือกระทรวงยุติธรรมเองก็ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติต้องมาดูกันว่าจะทำอย่างไรในคดีระหว่างสอบสวน หรือระหว่างที่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ยังไม่ตัดสิน ไม่ควรให้เขาอยู่เหมือนนักโทษเด็ดขาด เพราะเมื่อวัดหลักนิติธรรม ตามมาตรฐานเราอยู่ลำดับท้ายของโลก ดังนั้น เราต้องกลับมาพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย
ด้านนายน้ำแท้ กล่าวว่า หากพูดถึงเรื่องกฎหมายแบบใดควรจะเชื่อฟังและเคารพ ไม่ใช่คำถามที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยยุคกรีกโรมัน โดยกรีกโรมันมีความเป็นประชาธิปไตย การจำกัดสิทธิเสรีภาพคนต้องมีกฎหมายมาจำกัด ดังนั้น วิธีตั้งต้นไม่ได้ทำให้เราเชื่อกฎหมาย แต่ทำให้เราคิดว่าเราอิสระ เรามีเสรีภาพ ซึ่งกฎหมายของประเทศไทยมีการพัฒนาและปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5
สำหรับกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของการปกครอง และจะตอบสนองเพื่อผลประโยชน์ของการปกครองนั้นๆ เช่น ระบบการปกครองแบบเผด็จการ หรือระบอบกษัตริย์ กฎหมายก็จะมีรูปแบบที่ต้องการการบังคับใช้ที่เด็ดขาด เข้มงวดเชื่อฟัง แต่ถ้าเป็นกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย ก็จะมองหาประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมเป็นหลัก ดังนั้น การใช้กฎหมายแบบใดจะดีก็ต้องดูว่าเราอยู่ในรูปแบบการปกครองระบอบใด และทัศนคติของผู้บังคับใช้มีทัศนคติต่อคนที่ต้องเชื่อฟังแบบใด
นายน้ำแท้ กล่าวอีกว่า หลักนิติธรรม หัวใจคือความเสมอภาคของการใช้กฎหมาย และคนเราจะไม่เสมอภาคกันเลย ถ้ามีการแทรกแซง หรือให้ผลประโยชน์กับคนบางกลุ่มมากกว่า จึงเกิดคำถามต่อความชอบธรรม เช่น การให้แหล่งก๊าซธรรมชาติหรือแหล่งน้ำมันกับนายทุน และประชาชนต้องจ่ายการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นในราคาแพง ทั้งที่เป็นทรัพยากรของชาติ เป็นต้น และเมื่อเกิดคำถามต่อความไม่ชอบธรรม จึงเกิดการประท้วงขึ้น หากเป็นแบบนี้ เราจะบอกว่าคนเหล่านี้ไม่เคารพกฎหมาย และสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองอย่างนั้นหรือ
“เพราะฉะนั้น การไม่เคารพกฎหมายหรือการต่อต้านกฎหมาย เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รู้สึกว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่ต้องตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพวกเขาเหล่านั้น“ นายน้ำแท้ กล่าว
ขณะที่การจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ต้องมีกฎหมายที่ให้อำนาจในการกระทำนั้น เช่น การค้นบ้าน การขังใคร แต่นักกฏหมายบ้านเราแปลคำนี้ผิด เพราะเราไม่เข้าใจตรรกะของมันที่ว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นว่าถ้าไม่มีระเบียบเขียน เราไม่ทำอะไรเลย นี่คือนิติวิธีที่ผิดอย่างรุนแรง ทั้งที่จริงแล้วเราเป็นเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ท่านสามารถทำได้ทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม มีอำนาจตามกฎหมาย ยกเว้นละเมิดกฏหมาย หรือการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และต่อมาเรื่องของกฎเลยก็มีการพัฒนาตามยุคตามสมัย โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล จึงมีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล.-สำนักข่าวไทย