กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – แทบจะชัดเจนแล้วว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับไทยในวันที่ 10 ส.ค.นี้ หลังหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง 15 ปี หลายคนจับตาว่า กลับมาแล้วจะต้องได้รับโทษหรือไม่ และ “ทักษิณ” จะกลับมาในลักษณะใด
การเดินทางออกนอกประเทศของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นายทักษิณ ออกจากไทยไปอยู่ต่างประเทศ ก่อนเดินทางกลับไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 โดยในวันนั้น เวลา 09.45 น. เครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบิน TG 603 เดินทางจากฮ่องกง แตะรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ ประชาชนคนรักทักษิณแห่มารอต้อนรับ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องวางกำลังตำรวจ และหน่วยอรินทราช ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลความสงบในพื้นที่ และตามจุดต่างๆ
ส่วนนายทักษิณ ใช้เวลาพูดคุยกับครอบครัวในห้องวีไอพี ประมาณ 10 นาที ก่อนออกมาจากห้องรับรอง ทักทายคนที่มารอต้อนรับ ก่อนก้มกราบแผ่นดิน เรียกน้ำตาจากคนที่รักและศรัทธา จากนั้นได้เข้ามอบตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามหมายจับในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ รวมถึงไปมอบตัวคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสทฯ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งคดีแรก นายทักษิณ วางหลักทรัพย์ 8 ล้านบาท ประกันตัวออกมา ส่วนคดีที่ 2 วางหลักทรัพย์ 1 ล้านบาท
ภายหลังประกันตัวออกมา นายทักษิณ เปิดใจว่า “ผมจำเป็นต้องมาพิสูจน์และรักษาชื่อเสียงของผมที่ถูกทำลายอย่างไม่เป็นธรรม และการกลับมาวันนี้ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”
แต่เพียง 5 เดือน คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2551 นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยขออนุญาตจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปดูกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่ปักกิ่ง และบอกว่าจะกลับมาในวันที่ 11 สิงหาคม 2561 แต่สุดท้าย นายทักษิณไม่ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกเลย
หลังจากนายทักษิณไปอยู่ต่างประเทศ ได้พยายามเคลื่อนไหวผ่านโซเชียล โดยเฉพาะในระยะหลัง นอกจากพูดเรื่องการเมือง ยังพูดบ่อยมากว่าจะกลับไทย โดยมีการระบุวันแน่ชัดว่าจะเป็นวันเกิด ก็คือวันนี้ (26 ก.ค.66) ทำให้เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ถึงขั้นมีเอกสารหลุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 ประชุมเตรียมความพร้อมรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยระเบียบวาระที่น่าสนใจ คือ ระเบียบวาระที่ 2.2 ขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย กรณีมีผู้ต้องหาตามหมายจำคุกเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยเครื่องบินโดยสาร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือสุวรรณภูมิ
ระเบียบวาระที่ 3 เป็นการพิจารณากำหนดเส้นทางการเดินทาง ซึ่งในวันที่ 12 กรกฎาคม วางแผนไว้ 4 เส้นทาง แยกเป็นเส้นทางลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเส้นทางลงเครื่องที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งระเบียบวาระนี้ หากนำมาเทียบกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม อาจต้องตัดเส้นทางสนามบินสุวรรณภูมิทิ้งทั้งหมด เพราะ น.ส.แพทองธาร ได้โพสต์บอกว่า พ่อจะลงเครื่องที่สนามบินดอนเมือง ทำให้เส้นทางที่คาดการณ์ว่าจะใช้ในวันดังกล่าว และการวางกำลังรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร เหลือเพียง 2 เส้นทาง
เส้นทางแรก คือ จากสนามบินดอนเมือง จะมีเจ้าหน้าที่มารอรับ และพาไปศาลฎีกาฯ ก่อนส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
เส้นทางที่ 2 คือ ลงเครื่องที่สนามบินดอนเมือง เจ้าหน้าที่มารอรับที่สนามบิน จากนั้นพาไป บช.ปส. (สถานที่ควบคุมพิเศษ) ก่อนไปส่งศาลฎีกาฯ
ตามแผนดังกล่าว ทำให้หลายคนคาดการณ์ว่า นายทักษิณกลับไทย จะต้องกลับมาในฐานะนักโทษชายทักษิณ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปรอรับ เพื่ออายัดตัวตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมือง และควบคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือส่งศาล และได้มีการเตรียมสถานที่ควบคุมพิเศษ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับสโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต เป็นสถานที่ควบคุมตัวนายทักษิณ เป็นการชั่วคราว ระหว่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายทักษิณ มีคดีติดตัวอยู่ 4 คดี โทษจำคุกรวม 12 ปี แต่ในจำนวนนี้มี 1 คดีที่ขาดอายุความไปแล้ว คือ คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ 33 ไร่ 78 ตารางวาราคา 772 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 โดยศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี แต่เนื่องจากคดีมีอายุความ 10 ปี ทำให้ขณะนี้คดีขาดอายุความ
ส่วนที่เหลืออีก 3 คดี คดีแรก คดีหวยบนดิน หรือคดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีที่ 2 คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท โทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา และคดีที่ 3 คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยันพร้อมรับ “ทักษิณ” เข้าคุกตามคำสั่งศาล
ด้านนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงขั้นตอนการรับตัวนายทักษิณ โดยยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการคุมตัวผู้ต้องขังตามคำสั่งศาล ซึ่งในส่วนของนายทักษิณ ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานใด แต่ขั้นตอนการรับตัวตั้งแต่ลงเครื่อง ตำรวจจะนำตัวไปส่งศาล และเมื่อศาลมีคำสั่งจำคุก เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ประจำอยู่ที่ศาลจะรับตัวนายทักษิณ เข้าสู่การควบคุม
ส่วนกระบวนการรับตัวผู้ต้องขังเข้าเรือนจำตามมาตรการ จะเริ่มตั้งแต่สอบทำทะเบียนประวัติ ตรวจร่างกาย โดยทุกเรือนจำยังต้องมีมาตรการคัดกรองโควิด กักตัวไว้ที่สถานพยาบาลของเรือนจำก่อนเป็นเวลา 10 วัน แต่กรณีผู้ต้องขังเจ็บป่วย สามารถออกไปควบคุมอยู่ที่โรงพยาบาลได้. – สำนักข่าวไทย