fbpx

วุ่นไม่เลิก! ยังหาข้อสรุปคำว่า “ญัตติ” ไม่ได้

รัฐสภา 19 ก.ค. – ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเถียงกันวุ่น ยังไม่ได้ข้อสรุปโหวต “พิธา” นั่งนายกฯ รอบ 2 เป็นญัตติหรือไม่ สส.เพื่อไทย-ก้าวไกล ท้วงกระบวนการเลือกนายกฯ ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ 


การประชุมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมในวันนี้ (19 ก.ค.) เริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. มีวาระสำคัญพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่งถือเป็นการพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 หลังการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีมติไม่เห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี และวันนี้ นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ 8 พรรครวมจัดตั้งรัฐบาล ได้เสนอชื่อนายพิธา ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเป็นครั้งที่ 2 โดยไม่มีพรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อท้าชิง

นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นทักท้วง เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ระบุว่า ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำเสนอขึ้นใหม่ในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มติ ซึ่งการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมามีมติไม่ให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ญัตติการเสนอชื่อนายพิธาจึงถือเป็นอันตกไป และแม้ว่าจะเสนอชื่อนายพิธาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ก็ไม่มีเหตุการณ์อื่นใดเปลี่ยนแปลงไป แต่อาจจะขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จึงขอใหพร้อมเสนอญัตติให้พิจารณาว่าการเสนอชื่อนายพิธา ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หรือไม่


ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา สนับสนุนให้ที่ประชุมได้อภิปราย ประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนลงมติ ตามที่ที่ประชุมพรรคการเมือง และคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา หารือไว้เมื่อวานนี้ (18 ก.ค.) เพื่อไม่ให้ประธานรัฐสภาต้องวินิจฉัย

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เห็นแย้ง เนื่องจาก กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติแล้ว จึงขอให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัย รวมถึงนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มั่นใจว่าการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ญัตติ แต่เป็นข้อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 136

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงเนื่องจากระหว่างที่รัฐสภาพิจารณาข้อเสนอเสมือนญัตติตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถเสนอญัตติอื่นๆ ซ้อนได้ ซึ่งขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 31 และจะทำให้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไปขัดต่อกระบวนการรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทำให้นายอัครเดช ลุกขึ้นตอบโต้ว่า กรณีที่นายจุลพันธ์ ระบุว่า ไม่สามารถพิจารณาญัตติ ซ้อนญัตติได้นั่นหมายความว่า ได้ยอมรับแล้วว่าการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นญัตติ โดยนายจุลพันธ์ เห็นว่ากระบวนการที่จะต้องดำเนินการหลังจากนี้ รัฐสภา ควรจะใช้เสียงข้างมาก ตัดสินว่าที่ประชุมจะเห็นชอบให้ดำเนินการไปตามทิศทางใด


นายเอกนัฏฐ์ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ แนะนำให้ 8 พรรคร่วมไปตกลงกันให้ดีก่อนว่าจะดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ เพราะนายจุลพันธ์ ก็ยอมรับแล้วว่าการเสนอนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติ แต่พรรคก้าวไกลกลับเห็นค้านว่ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นญัตติ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกรัฐสภา กล่าวว่า อยากให้ประธานรัฐสภาและที่ประชุมพิจารณาให้ชัดเจน ที่เสนอเรื่องบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามระเบียบวาระไม่เป็นญัตติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าการที่มีการพิจารณาในวันนี้เป็นไปตามหมวด 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่ข้อบังคับข้อที่ 136-139 ซึ่งข้อบังคับที่ 138 เขียนเอาไว้ว่า ในการพิจารณาญัตติวรรคหนึ่ง ซึ่งก็เขียนอย่างชัดเจนในข้อบังคับว่าเป็นญัตติ อีกทั้งสิ่งที่เสนอในวาระให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ตนไม่เห็นด้วย และมีข้อต่างจากนายอัครเดช ว่าไม่ใช่การขัดแค่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ดังนั้น ข้อเสนอจากตนไม่เห็นด้วย จะต้องให้มีผู้รับรองให้ญัตติหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า ตนไม่ได้พูดว่าญัตติแต่กระบวนการทำเหมือนญัตติ ถ้าประธานไม่วินิจฉัยแล้วใครจะวินิจฉัย ถ้ารัฐสภาจะวินิจฉัยเกี่ยวกับการบังคับใช้ข้อบังคับ ก็คือการตีความข้อบังคับที่มีปัญหาอยู่ 2 ส่วน ที่เขียนเอาไว้ชัดเจนแล้วว่าข้อ 151 หากมีปัญหาตีความข้อบังคับ ให้เป็นอำนาจรัฐสภาวินิฉัย ซึ่งลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เท่ากับต้องได้เสียง 375 เสียงถึงจะสามารถวินิจฉัยข้อบังคับไม่ได้  แต่การโหวตครั้งนี้ถ้ารัฐสภา ได้เสียง 374 เสียง ญัตติที่เสนอมาจะตกไป วินิจฉัยไม่ได้ก็เป็นไปตามข้อบังคับ เดินหน้าเข้าสู่การโหวตนายกรัฐมนตรีต่อไป ดังนั้น ขอให้ประธานวินิจฉัยว่าสมาชิกสามารถเสนอญัตตินี้ได้โดยอาศัยข้อบังคับที่ 151 กรณีมีความเห็นต่างเรื่องการใช้ข้อบังคับฯ ถ้าคะแนนออกมา เสียงข้างมากได้ 375 เสียง ท่านต้องยอม แต่ถ้าไม่ได้หรือท่านได้ 374 เสียง ท่านต้องยอมพวกตนเหมือนกัน เพื่อให้มีการโหวตเลือกนายกฯ ต่อไป

“ทำไมตนถึงเถียงว่าไม่ใช่ญัตติตามข้อบังคับ ข้อ 41 อย่างที่บอกว่ามีกระบวนการเหมือนเสนอญัตติ ตนก็เป็นหนึ่งในคนร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าข้อเสนอของสภาฯ ที่ให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือให้ไปสายก็ได้ไปขวาก็ได้แล้วแต่สภาฯ แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เขียนไว้ว่าให้สภาฯ ไปเลือกนายกรัฐมนตรี เท่ากับให้ดำเนินการอย่างหนึ่งไม่มีอย่างใด ต้องเลือกอย่างเดียวจึงไม่มีคำว่าญัตตินำหน้า ไม่เหมือนกับอภิปรายทั่วไปต้องมีคำว่าญัตติ ดังนั้น ต้องชัด คือ อภิปรายตาม 151 อภิปรายโต้แย้งกันไป หรือลงมติตาม 151″ นพ.ชลน่าน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมใช้เวลาไปแล้ว เปิดประชุมไปครบ 2 ชั่วโมง ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทำให้นายวันมูหะนัดนอร์ ต้องเปิดโอกาสให้ สส. และ สว. อภิปรายว่าการเสนอชื่อนายพิธา ถือเป็นญัตติหรือไม่ ตามการเสนอของนายอัครเดช ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดเวลาการอภิปรายไว้ 2 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่าย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 40 นาที, ฝ่าย 10 พรรคร่วมรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน 40 นาที และฝ่ายวุฒิสภา 40 นาที แต่สามารถขยายเวลาได้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดการถกเถียงกันอย่างวุ่นวายเกือบ 3 ชั่วโมง สส.ของพรรคก้าวไกลส่วนหนึ่งพยายามให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และขอให้ประธานรัฐสภาใช้อำนาจชี้ขาดตามที่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาได้ให้อำนาจไว้ เพื่อให้ที่ประชุมเดินหน้ากระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ ขณะที่พรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และสมาชิกวุฒิสภา พยายามให้ที่ประชุมร่วมกันลงมติชี้ขาดว่ารัฐสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไรต่อไป.-สำนักข่าวไทย        

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

โผ ครม. “เศรษฐา 2” ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้

โผ ครม. เศรษฐา 2 ลงตัว ก.คลัง จัด รมช. 3 เก้าอี้ เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ พปชร. ยึด ก.เกษตรฯ ด้าน “สุชาติ” นั่ง รมช.พาณิชย์ พร้อมทาบ “พวงเพ็ชร” ที่ปรึกษานายกฯ โค้งสุดท้ายสลับ “สุดาวรรณ” นั่ง ก.วัฒนธรรม “เสริมศักดิ์” ไป ก.ท่องเที่ยวฯ

รวบ 2 ใน 4 อุ้มฆ่าหนุ่มไทใหญ่ทิ้งป่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

รวบแล้ว 2 ใน 4 ผู้ต้องหาอุ้มฆ่า “จ๋อมวัน” หนุ่มไทใหญ่ ก่อนนำศพไปทิ้งในป่าที่ จ.เชียงใหม่ ปมสังหารอ้างไม่พอใจถูกแซวเรื่องหญิงคนสนิท

มหาวิทยาลัยแจงเหตุ นศ.สาวปี 3 แทงแฟน นศ.ปี 1 สาหัส

มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีนักศึกษาหญิงทำร้ายนักศึกษาชาย ในหอพักจนบาดเจ็บสาหัส ด้านตำรวจยืนยันนักศึกษาหญิงที่ก่อเหตุมอบตัวแล้ว ยอมรับเป็นแฟนและทะเลาะกัน

รวบผู้ต้องสงสัยคดีฆ่าหั่นศพที่นนทบุรี นำตัวเข้าเซฟเฮาส์

รวบตัวชายไทย อายุประมาณ 35-40 ปี ต้องสงสัยคดีฆ่าหั่นศพ ภายในซอยจัดสรรสวิง 2 ถนนบ้านกล้วย-ไทรน้อย ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ตำรวจนำตัวเข้าเซฟเฮาส์ อยู่ระหว่างสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน

ข่าวแนะนำ

Made in Thailand แดนไทยเท่ : ภูเก็ตฟิตเนสมวยไทยซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์

ช่วง Made in Thailand แดนไทยเท่ วันนี้ จะพาไปที่จังหวัดภูเก็ต ที่นั่นมวยไทยไม่ได้เป็นแค่ศิลปะการต่อสู้เพื่อป้องกันตัว แต่ภูเก็ตยังเป็นแหล่งรวบรวมฟิตเนสมวยไทย ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ไปต่อยมวยเพื่อออกกำลังกาย จนทำให้มวยไทยกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ส่งออกไปไกลทั่วโลก

ถกประเด็น กกต. กำหนดกรอบ สว. ห้ามหาเสียง ?

27 เม.ย. – คุยกับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกคำสั่งเด็ดขาดให้ยกเลิกและยุติแคมเปญชักชวนคนมาสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา ชี้ผิดกฎหมาย รวมถึงการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ก็เป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวาง .-สำนักข่าวไทย

ทหารอเมริกันยกพลเที่ยวเมืองพัทยาเงินสะพัด

พัทยาช่วงนี้คึกคัก เพราะทหารอเมริกันยกพลขึ้นบก บุกพัทยากว่า 6,000 คน ผู้ประกอบการยิ้มรับ คาดเงินสะพัดจำนวนมาก

จนท.นำหุ่นยนต์ 4 ขา ช่วยตรวจจับความร้อน

เหตุไฟไหม้โรงงานเก็บขยะเคมีอันตราย จ.ระยอง ก่อนที่ นายกฯ จะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์บ่ายวันนี้ เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนยังคงระดมกำลังหล่อเย็นพื้นที่โรงงาน ด้านตำรวจพิสูจน์หลักฐาน นำหุ่นยนต์โรบอท 4 ขา ช่วยตรวจจับสัญญาณความร้อน