กทม. 16 ก.ค.-รัฐบาลห่วงใยสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในช่วงฤดูฝน พบตัวเลขผู้ป่วยเพิ่ม เตือนประชาชนและผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง 10-14 วัน มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยร่างกาย ให้พบแพทย์โดยเร็ว
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนหลังรับทราบรายงานสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย (ณ 7 ก.ค. 66) กรมควบคุมโรครายงานพบผู้ป่วยเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้า 835 ราย นายกรัฐมนตรีจึงฝากความห่วงใยมายังประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีไร่มีสวนติดกับเขตพื้นที่ป่าเขา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารที่ลาดตระเวนตามแนวชายแดนที่ติดพื้นที่ป่า รวมทั้งประชาชนที่ชอบเดินป่า เพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนเหมาะต่อการเจริญพันธุ์ของยุงหลายชนิด เสี่ยงติดเชื้อโรคมาลาเรียซึ่งมียุงก้นปล่องที่ออกหากินเวลากลางคืนเป็นพาหะนำโรค โดยกรมควบคุมโรคแนะนำให้ประชาชนสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง หากต้องนอนค้างคืนในป่าควรกางมุ้ง หรือหากนอนเปลควรหามุ้งคลุมเปลป้องกันยุงกัด จะช่วยป้องกันโรคไข้มาเลเรีย หรือไข้ป่า ไข้จับสั่นได้
นางสาวรัชดา กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย จากระบบมาลาเรียออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม 9,255 ราย (รายงานเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 835 ราย) จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ ตาก 5,513 ราย รองลงมาคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1,026 ราย และจังหวัดกาญจนบุรี 945 ราย เป็นคนไทย 4,158 ราย (ร้อยละ 44.9) และต่างชาติ 5,097 ราย (ร้อยละ 55.1) พบผู้เสียชีวิต 3 ราย ที่จังหวัดตาก ทั้งนี้ โรคไข้มาลาเรีย เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม โดยมียุงก้นปล่องซึ่งมักอาศัยอยู่ตามป่าเขาเป็นพาหะ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามพื้นที่ป่าเขา รวมถึงพื้นที่แถบชายแดน มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด อาการของโรคไข้มาลาเรีย คือ เมื่อผู้ป่วยถูกยุงก้นปล่องตัวเมียกัด จากนั้นประมาณ 10 – 14 วัน จะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะเป็นพัก ๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร หากไปพบแพทย์ทัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาในเวลาไม่นาน แต่หากไปพบแพทย์ช้า ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
“กรมควบคุมโรคแนะนำให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงโรคไข้มาลาเรีย 10 – 14 วัน แล้วมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย คลื่นไส้และเบื่ออาหาร ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่โรงพยาบาล ซึ่งมีขั้นตอนคือ การเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยา และกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง มาตรวจเลือดซ้ำตามแพทย์นัด และเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการควบคุมยุงพาหะ ในพื้นที่ให้คลอบคลุมทุกหลังคาเรือน เร่งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการ 1-3 -7 และเฝ้าระวังการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในพื้นที่ และสำหรับประชาชนเมื่อต้องเข้าป่า หรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเอง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง เมื่อต้องนอนค้างคืนในป่า ควรนอนในมุ้ง โดยมุ้งต้องอยู่ในสภาพดีไม่มีรูขาด รวมทั้งนำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นางสาวรัชดา กล่าว.-สำนักข่าวไทย