พรรคเพื่อไทย 26 มิ.ย.- ตัวแทนเยาวชน หวังสร้างพื้นที่ปลอดภัย ยื่นข้อเสนอ “เพื่อไทย” ช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด “จุลพันธ์” เผยจุดยืนพรรค มุ่งมั่นแก้ปัญหานี้จริงจัง เตรียมนำข้อมูลเสนอคณะทำงานเปลี่ยนผ่านให้รัฐบาลประชาธิปไตยเดินหน้าทันที
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส.ขอนแก่น นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย นายพลนชชา จักรเพ็ชร กรรมการบริหารพรรค และนายต้น ณ ระนอง คณะทำงานด้านนโยบายกีฬา พรรคเพื่อไทย ให้การต้อนรับเครือข่ายเยาวชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยและป้องกันปัญหายาเสพติด ที่เข้ายื่น 9 ข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อพัฒนานโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้รับข้อเรียกร้องดังกล่าวและจะนำข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายฯ เข้าที่ประชุมคณะทำงานเปลี่ยนผ่านพรรคร่วม 8 พรรค พร้อมย้ำพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทยก็จะยังเดินหน้าปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยใส่ใจแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ปี 2544 โดยทำสงครามปราบปรามยาเสพติดจนได้รับชัยชนะในระดับหนึ่ง ทำต่อเนื่องถึงสมัยพรรคเพื่อไทย แต่ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลภายหลังรัฐประหารปล่อยปละละเลยปล่อยให้มียาเสพติดแทบทุกบ้าน ชาวบ้านรู้ว่ามียาเสพติดที่ไหน แต่รัฐบาลไม่รู้ ตำรวจไม่รู้ หนักกว่านั้นเมื่อมีนโยบายเสรีกัญชาเกิดขึ้นโดยและประกาศใช้โดยไม่ได้มีมาตรการปกป้องเด็กและเยาวชนที่เหมาะสม ช่วงพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน 4 ปีที่ผ่านมา ได้สะท้อนปัญหายาเสพติดผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การเสนอญัตติแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่องดังนั้น พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนปราบปรามยาเสพติดชัดเจน ส่วนกรณีกัญชาควรถูกนำกลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด และควรใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช้เพื่อสันทนาการ
“พรรคเพื่อไทยกำลังร่วมกับพรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เสนอจัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านด้านยาเสพติดโดยเฉพาะ โดยจะนำข้อเสนอของกลุ่มเครือข่ายฯ เข้าไปเสนอให้คณะทำงานเปลี่ยนผ่านได้นำไปพิจารณาต่อไป” นายจุลพันธ์ กล่าว
นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวว่าประมวลกฎยาเสพติด พ.ศ.2564 ได้ประกาศใช้และมีเรื่องการยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดแล้ว แต่ยังต้องมีการแก้ไขกฎหมายลูกและอนุสัญญาอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในรัฐบาลหน้าเริ่มทำงานก็จะเร่งแก้ไขทันที นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว สิ่งที่ห่วงใยคือเรื่องการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยยาเสพติดส่วนมากจะเป็นโรคซึมเศร้า แต่เรายังไม่มีกระบวนการบำบัดอย่างจริงจังและได้ผลเพียงพอ และเมื่อกระบวนการบำบัดล้มเหลว ผู้ป่วยยาเสพติดก็จะกลับคืนสู่วงจรยาเสพติด คือกลับมาเสพยา ใช้ความรุนแรงจนก่ออาชญากรรมอีกครั้ง
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวว่า รัฐต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้คนในชุมชนได้แจ้งไปยังภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ได้ข้อมูลและเอาไปบอกผู้ค้า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต้องทำงานประสานกันในการแก้ไขปัญหาระหว่างชุมชน สังคม ประเทศชาติรวมถึงต้องร่วมกับรัฐบาลหน้าในการแก้ไขปัญหายาเสพติดถึงในระดับระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเราซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด ซึ่งพรรคเพื่อไทยเมื่อได้เป็นรัฐบาลจะทำหน้าที่ประสานแก้ไขปัญหาในทุกระดับเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จและสำเร็จ
นางสาวสรัสนันท์ กล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้หน่วยเล็กที่สุดคือครอบครัวมีปัญหา หากลูกเห็นว่าพ่อแม่และครอบครัวไม่ใช่พื้นที่อบอุ่นที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจก็จะหันไปหาเพื่อน และยาเสพติดในการแก้ไขปัญหาแทนพ่อแม่ และในต่างจังหวัดปัญหาที่พบบ่อยคือ พอลูกหลานหาเงินไม่ได้ก็จะไปเอาเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของพ่อแม่ ปู่ย่าไปซื้อยาเสพติดจนทำให้ชุมชนอ่อนแอ ครอบครัวแตกแยก จึงขอสนับสนุนให้แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วนจริงจังทันที
นายต้น กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลนโยบายด้านกีฬา ขอสนับสนุนให้รัฐและเอกชนได้ส่งเสริมให้เยาวชนได้เล่นกีฬา เพราะการเล่นกีฬานอกจากจะเบี่ยงเบนความสนใจของเยาวชนออกห่างยาเสพติดแล้ว ยังสามารถเสริมสร้างสมรรถนะและโอกาสให้เป็นนักกีฬาในระดับเขต ระดับทีมชาติ จนเป็นอาชีพสร้างรายได้อีกด้วย
สำหรับ 9 ข้อเสนอของเครือข่ายเยาวชนสร้างพื้นที่ปลอดภัยและป้องกันปัญหายาเสพติด ประกอบด้วย1.นำเงินจากการยึดทรัพย์ยาเสพติด ที่อยู่ในกองทุนป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด มาสนับสนุนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดให้เยาวชน 2.พัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างมีส่วนร่วม โดยสร้างพื้นที่กลางให้ประชาชน เด็กเยาวชน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคมร่วม 3.ปฏิรูปการศึกษา และปรับปรุงหลักสูตรทั้งในระบบห้องเรียนและนอกระบบห้องเรียนเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เรียนรู้เท่าทันโลก 4.สนับสนุนกระบวนการเฝ้าระวัง ดูแลและส่งต่อกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้สารเสพติดอย่างเป็นระบบ และพัฒนาบุคลากรและการศึกษาด้านจิตวิทยาบำบัดหรือให้คำปรึกษาประจำโรงเรียน 5.พัฒนานโยบายให้ความสำคัญกับกระบวนการป้องกันและดูแลเด็กเยาวชนผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อลดปัญหายาเสพติด
6.รับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาสนับสนุนการเคลื่อนงานด้านการป้องกันปัญหาในพื้นทีที่เอื้อต่อบริบทสังคมแบบพหุวัฒนธรรม 7.สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ควรเป็นหน่วยงานรับฟังความเห็นและเสียงสะท้อนของประชาชน พร้อมเป็นศูนย์กลางการรวบรวมองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด 8.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ยึดโยงกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของทุกคนในสังคมไทย 9.พิจารณานำกัญชากลับไปเป็นพืชยาเสพติดที่ต้องควบคุมตามกฎหมายและมีมาตรการในการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิด .- สำนักข่าวไทย