นิด้า 24 เม.ย. –นักวิชาการนิด้า มอง “เศรษฐา-แพทองธาร”ประสานเสียงประกาศจุดยืนไม่จับขั้ว พปชร.-รทสช. กังวลหลังคะแนนนิยมลดลง อาจส่งผลเป้าหมายแลนด์สไลด์ ตั้งข้อสังเกตเกิดกลยุทธ์จับมือทิ้งพรรค 2 ลุง ขณะที่ตัวเปลี่ยนเกมคือ ปชป.
นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสินและน.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ประกาศจุดยืนชัดเจนไม่จับมือร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า พรรคเพื่อไทยคงมีความกังวล หลังช่วงกลางเดือนเมษายนมีคะแนนความนิยมลดลง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่ชัดเจนเรื่องจุดยืนจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพปชร.และรทสช.ทำให้เกิดคำถามอย่างต่อเนื่อง และกังวลว่าจากความไม่ชัดเจนนี้ประชาชนจะหันไปเทคะแนนให้กับพรรคก้าวไกล ซึ่งส่งผลกระทบกับเป้าหมายแลนด์สไลด์ได้ เช่นคะแนนลดลงไป 4-5 % จากที่ปัจจุบันมีคะแนน 47 % จะลงไปอยู่ที่ 42% จะทำให้เป้าหมายแลนด์สไลด์ยากขึ้นดังนั้นจึงต้องปรับตัว ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าการประกาศจุดยืนชัดจะทำให้คะแนนเพิ่มขึ้นหรือไม่
เมื่อถามว่าจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องการจับขั้วรัฐบาลส่งผลต่อคะแนนนิยมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจุดยืนพรรคก้าวไกลชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนพรรคเพื่อไทยยังไม่ชัดเจนจนสุดท้ายต้องประกาศความชัดเจน แต่คนก็ยังไม่เชื่อมั่นเพราะผู้ที่ประกาศคือ นายเศรษฐา ซึ่งคนยังสงสัยว่าจะเป็นตัวจริงหรือไม่ที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจ ทำให้น.ส.แพทองธาร ต้องออกมายืนยันเพิ่มอีกเสียง แต่สุดท้ายต้องดูว่าใครจะเป็นคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างแท้จริงซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย
ด้านนายสุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” มองว่าการออกมาประกาศจุดยืนไม่จับมือตั้งรัฐบาลของ 2 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย อาจมีแผนอะไรหรือไม่ ตนเคยให้ความเห็นเรื่องให้รัฐบาลระวังยุทธการปราบ 3ป. คือ พรรคเพื่อไทยพยายามที่จะทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว.ดังนั้นหลังการเลือกตั้งหากพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงรวมกันได้เยอะไม่พอ ยกตัวอย่างได้เสียง 120 เสียง ส่วนอีกฝั่งรวมกันได้ 380เสียง ถ้าเกิดการจับมือรวมกันได้แล้วโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทยโดยไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว. และทิ้งพรรคของ 2 ป.เป็นฝ่ายค้าน จึงต้องลองดูให้ดีว่าจะมีกลยุทธนี้เกิดขึ้นหรือไม่
“กลยุทธ์นี้จะเกิดขึ้นได้ พรรคเพื่อไทยต้องไปจับมือกับอีกหนึ่งพรรคให้ได้ คือพรรคประชาธิปัตย์ คำถามคือจะกล่อมได้หรือไม่ เพราะพรรคประชาธิปัตย์คงต้องระวังตัวเอง เนื่องจากคะแนนไม่ค่อยดี อีกทั้งจะส่งผลกับการเลือกตั้งครั้งหน้าทันทีและไม่ว่าพรรคการเมืองจะตัดสินใจอย่างไรคงต้องรอติดตามดู แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปยังพรรคพลังประชารัฐ และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สังเกตกลยุทธ์นี้ไว้ด้วย ย้ำว่ากลยุทธ์นี้จะเกิดได้ขึ้นอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ หากตัดสินใจไม่ร่วมกลยุทธ์นี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน” นายสุวิชา กล่าว
เมื่อถามว่าพรรคภูมิใจไทยจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ประกาศชัดเจนและดูเหมือนไม่ปิดประตูตายกับพรรคเพื่อไทย นายสุวิชา กล่าวว่า หากดูจากนายเนวิน ชิดชอบ ก็เปิดประตูกว้างเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งโดยบอกว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ออกมาย้ำเสมอว่ามีคอนเนคชันที่ดีกับคนแดนไกล ซึ่งการเมืองไทยไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีการพูดคุยกันมาแล้ว เพียงแต่ต้องรอความชัดเจนของตัวเลขอีกครั้ง มองว่าการเลือกตั้งรอบนี้มีหลายสูตรทางการเมืองในการจับขั้วรัฐบาล ยอมรับว่าการเลือกตั้งปี66 อะไรก็เกิดขึ้นได้ และทายยากว่าฝ่ายไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเดิมคงทุ่มทุกสรรพกำลังเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งเพราะเชื่อมั่นว่าจะสามารถฝ่ากระแสพรรคเพื่อไทยมาได้ ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ใช้กระแสที่มีป้องกันทุกทางเพื่อเป้าหมายแลนด์สไลด์
เมื่อถามว่าการที่หลายพรรคการเมืองกล้าตัดสินใจประกาศความชัดเจนทางการเมืองเป็นเพราะ ส.ว.เหลือวาระอีกเพียง 1 ปีหรือไม่ นายสุวิชา กล่าวว่า ใช่ เพราะอำนาจที่ยังมีเหลืออีก 1 ปี และต้องมาดูอีกว่า ส.ว.จะเอนไปทางไหน จะตัดสินใจอย่างไร และมี ส.ว.เพียงไม่กี่คนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ และส่วนตัวมองว่า ส.ว.ส่วนหนึ่งอาจตัดสินใจไปแล้ว.-สำนักข่าวไทย