ทำเนียบฯ 13 เม.ย. – โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ติดตามการแก้ไขปัญหาความแออัดบริการภาคพื้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำชับกระทรวงคมนาคมกำกับดูแลการให้บริการผู้โดยสารให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลการให้บริการผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้ได้รับความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย กระทรวงคมนาคมได้ประเมินสถานการณ์ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง และการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ พบว่าปริมาณการเดินทางทางอากาศของประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเกิดปัญหาผู้โดยสารต้องใช้เวลานานในการรับบริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จนเกิดความแออัดในช่วงระยะเวลาเร่งด่วน โดยกระทรวงคมนาคมได้ติดตามและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความแออัด บริการภาคพื้นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาโดยลำดับ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้โดยสารในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
โดยกระบวนการภายในท่าอากาศยาน ประกอบด้วย 3 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงคมนาคม ในส่วนของการท่าอากาศยาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในส่วนของการตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงการคลัง ในส่วนของการศุลกากร ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ประสานและบูรณาการความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานหลักดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้พิจารณากระบวนการให้บริการผู้โดยสารทั้งระบบ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้าและขาออก สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.การให้บริการผู้โดยสารขาออก มีชั่วโมงคับคั่ง (Peak Hour) เกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ระหว่างเวลา 12.00-15.00 น. และ 20.00-24.00 น. มีพื้นที่ให้บริการที่เกิดปัญหาความแออัดและหนาแน่นของผู้โดยสาร ได้แก่ (1) พื้นที่ให้บริการเช็กอินของสายการบิน บริเวณโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 ได้แก้ไขปัญหา โดยเร่งประสานสายการบินให้จัดเจ้าหน้าที่และเปิดเคาน์เตอร์เช็กอินเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการ และได้ติดตั้งเครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Check-In : CUSS) และจุดโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) ทำให้ไม่ต้องใช้เวลารอเพื่อเช็กอิน ช่วยลดความแออัดบริเวณหน้าเคาน์เตอร์เช็กอิน ซึ่งจุดดังกล่าวท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้จัดเจ้าหน้าที่ช่วยแนะนำในการใช้งานเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารด้วยแล้ว
(2) พื้นที่ให้บริการจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เปิดใช้งานจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศชั่วคราว บริเวณท้ายเคาน์เตอร์เช็กอิน Row W โถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 ซึ่งจุดตรวจค้นดังกล่าว ช่วยลดผลกระทบต่อการให้บริการจุดตรวจค้น ในขณะที่ ทอท. อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบส่งคืนถาดใส่สัมภาระอัตโนมัติ (Automatic Return Tray System หรือ ARTS) โดยจุดตรวจค้นชั่วคราวที่เปิดใหม่นี้ มีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ 3 เครื่อง ทำให้การตรวจค้นผู้โดยสารยังคงประสิทธิภาพไว้ตามเดิม รวมทั้งได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร นอกจากนี้ได้เร่งรัดแผนการติดตั้งระบบ ARTS โดยเพิ่มแรงงานในการติดตั้ง ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิม 50 วัน
(3) พื้นที่จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออก ที่ผ่านมาพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความแออัดในช่วง Peak Hour ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดสรรอัตรากำลังพลเสริมให้กับกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 จำนวน 104 นาย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของการตรวจหนังสือเดินทางขาออกแล้ว ดังนั้น จึงทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั่งประจำจุดตรวจหนังสือเดินทางได้เต็มทุกช่องตรวจในช่วงเวลาเร่งด่วนได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว AOT จะได้ประสานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อจัดสรรอัตรากำลังเป็นการถาวรเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
2.การให้บริการผู้โดยสารขาเข้า มีชั่วโมงคับคั่ง (Peak Hour) ในช่วงระหว่างเวลา 12.00-15.00 น. มีพื้นที่ให้บริการที่เกิดปัญหาความแออัดและหนาแน่นของผู้โดยสาร ได้แก่ (1) พื้นที่จุดตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า ปัจจุบันกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่นั่งประจำจุดตรวจหนังสือเดินทางเต็มทุกช่องตรวจแล้ว ทำให้การให้บริการตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว
(2) พื้นที่โถงสายพานรอรับกระเป๋า ปัจจุบันผู้ประกอบการอุปกรณ์ภาคพื้นทั้ง 2 ราย ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์ เซอร์วิส จำกัด ได้เพิ่มจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ในการให้บริการภาคพื้นให้เพียงพอและสอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบิน ซึ่งทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นตามลำดับ มีการขนถ่ายสัมภาระอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้
(3) การเชื่อมต่อการเดินทางภาคพื้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีบริการที่หลากหลายรองรับผู้โดยสารทุกกลุ่ม ตั้งแต่รถไฟฟ้า Airport Rail Link รถลีมูซีน และรถโดยสารสาธารณะต่างๆ โดยในส่วนของรถแท็กซี่ที่เคยมีปัญหาขาดแคลนในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารใช้บริการหนาแน่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งเปิดช่องทางแท็กซี่เพิ่ม เพื่อให้รถแท็กซี่สามารถเข้ามารับผู้ใช้บริการได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการขยายพื้นที่รอคอยกดตั๋วแท็กซี่ และกำหนดจุดยืนรอคิวรับบริการแท็กซี่ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ลดความแออัด ทำให้ผู้โดยสารสามารถลดระยะเวลาในการรอคิวรถแท็กซี่เหลือเพียงประมาณ 10 นาทีต่อราย ปัจจุบันมีผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะลงทะเบียนเป็นสมาชิกในระบบประมาณ 3,994 คัน
สำหรับกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่เกิดปัญหาความล่าช้าในส่วนของกระบวนการขาออก กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหารือร่วมกับกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ในการจัดสรรกำลังพลเสริมเพิ่มเติมเป็นการเร่งด่วน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดตรวจหนังสือเดินทางให้ได้เต็มทุกช่องตรวจในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งนี้ ในส่วนของขาเข้าได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ AOT พยายามเชิญชวนให้สายการบินมาใช้บริการเครื่อง CUSS และ CUBD เพิ่มมากขึ้น โดยประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก รวมทั้งให้พิจารณาจำนวนและตำแหน่งเครื่อง CUSS และ CUBD ให้เหมาะสมเพื่อลดปัญหาความหนาแน่นบริเวณเช็กอินเคาน์เตอร์ของสายการบิน
“นายกรัฐมนตรีรับทราบรายงานการแก้ไขปัญหาความแออัดบริการภาคพื้นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิดังกล่าว พร้อมกำชับให้กระทรวงคมนาคมติดตาม กำกับดูแลการให้บริการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ในส่วนของการให้บริการผู้โดยสารให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 นี้ ที่จะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ AOT ได้ขอความกรุณาผู้โดยสารเผื่อเวลาเดินทางมายังสนามบินล่วงหน้า 2-3 ชั่วโมง หรือตรวจสอบข้อมูลสถานะเที่ยวบิน รวมถึงตรวจสอบระยะเวลาการรอบริเวณจุดให้บริการต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เพื่อป้องกันการพลาดเที่ยวบิน
ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถสอบถามข้อมูลเที่ยวบินและการให้บริการของ AOT ได้ที่ AOT Contact Center หมายเลขโทรศัพท์ 1722 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายอนุชา กล่าว .-สำนักข่าวไทย