สำนักงาน กกต. 29 มี.ค. – เลขาฯ กกต. ยืนยันความพร้อมรับสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์-แบ่งเขต เชื่อพรรคการเมืองระวังตัว กรองผู้สมัครก่อนลงสมัคร ยันระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าดี แต่ชี้แจงไม่ละเอียด เร่งแก้ไขรักษาสิทธิประชาชน
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ในวันพรุ่งนี้ (30 มี.ค.) ว่า เรื่องนี้อยู่ในชั้นศาล ยังพูดอะไรมากไม่ได้ แต่ยืนยันว่า กกต.ทำตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในการแบ่งเขต ทั้งนี้ กกต.ได้มอบหมายให้ผู้แทนไปชี้แจง ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะพิจารณาอย่างไร
เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่า วันนี้เราได้ซักซ้อมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าของพื้นที่ การไฟฟ้านครหลวง และสำนักงาน กกต. เพื่อซักซ้อมรับมือพรรคการเมืองที่จะมาสมัคร เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่พรรคการเมืองและผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะมีความพร้อม
นายแสวง กล่าวว่า การรับสมัครจะมีขึ้นที่อาคารไอราวัตพัฒนา เขตดินแดน กรุงเทพฯ เริ่มรับสมัครวันที่ 4-7 เม.ย.66 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ส่วนการจับสลากหมายเลขผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ใครมาก่อนเวลา 08.00 น. จะได้สิทธิการจับสลาก แต่ถ้าหากใครมาหลังเวลาดังกล่าว จะได้หมายเลขเรียงลำดับถัดไป ส่วนเงื่อนไขการลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน
เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ส่วนการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3 เม.ย. ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 กรุงเทพฯ เริ่มรับสมัครวันที่ 3-7 เม.ย. เวลา 08.30-16.30 น. จะมีผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเป็นผู้รับสมัคร โดยจะเป็นคนละส่วนความรับผิดชอบกับสำนักงาน กกต. สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการ กกต.แต่ละจังหวัดจะเป็นผู้กำหนด สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 จะใช้รูปแบบบัตรลงคะแนน 2 ใบ ประกอบด้วย บัตรลงคะแนนผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัตรลงคะแนนผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะไม่ใช่เบอร์เดียวกัน แต่มีความเป็นไปได้ที่จะได้เบอร์เดียวกันทั้ง 2 ใบ ในกรณีที่จับสลากได้หมายเลขเดียวกัน
นายแสวง กล่าวถึงการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ว่า กกต.เตรียมระบบไว้ดีแล้ว แต่ชี้แจงประชาชนไม่ละเอียด ทำให้ช่วงแรกเกิดความสับสนอยู่บ้าง ตอนนี้แก้ไขแล้ว ทั้งในส่วนสำนักงาน กกต. และสื่อมวลชนที่ชี้แจงต่อประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นระบบและเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อยแล้ว ส่วนปัญหาการลงทะเบียนแล้วระบบผิดพลาดให้ใช้สิทธิในวันที่ 14 พ.ค. แล้วไม่สามารถยกเลิกได้นั้น ขณะนี้สำนักงานทราบเรื่องแล้ว และจะนำไปแก้ไขเพื่อรักษาสิทธิของประชาชนโดยเร็ว
ส่วนกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยในบางประเทศลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว แต่กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ไม่ใช่วันหยุด ทาง กกต.ได้รับทราบข้อมูลแล้ว สำนักงานต้องพูดคุยว่าเป็นอย่างไร บางทีเป็นความเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง อาจจะต้องดูเงื่อนไขตามกฎหมายด้วย แต่เป็นหนึ่งเสียงที่เราต้องรับฟังเช่นกัน
เมื่อถามถึงกรณีตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง กกต.จะมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ เพราะในการเลือกตั้งปี 2562 มี ส.ส.ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหลังเลือกตั้ง นายแสวง กล่าวว่า เราตรวจมาตรฐานเดียว โดยได้รับความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ประมาณ 26 หน่วยงาน โดยซักซ้อมกันแล้ว เราจะตรวจตามมาตรฐาน ทั้งนี้ คุณสมบัติบางเรื่องไม่ได้อยู่ในหน่วยงานของรัฐที่สามารถตรวจสอบได้ แต่เป็นเรื่องส่วนตัวของเขาเอง กฎหมายถึงต้องเขียนว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิมาใช้สมัคร ซึ่งบางเรื่องเราไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะอยู่นอกเหนือฐานข้อมูลราชการ
“เชื่อว่าในการสมัครรับเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ พรรคการเมืองมีความระวัง โดยวิธีปฏิบัติ พรรคการเมือง หรือผู้สมัครจะมีการประสานกับผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อดูหลักฐานก่อนส่วนหนึ่ง ขณะที่หัวหน้าพรรคเองก็มีการส่งข้อมูลให้ กกต.ตรวจสอบก่อนในระดับหนึ่ง เพียงแต่บางอย่างผู้สมัครเองอาจจะหลง หรือมาเจอทีหลัง อย่างไรก็ตาม ส่วนมากจะไม่เกิดเรื่องอย่างนี้ แต่เรื่องที่ไปที่ศาลฎีกามากที่สุด คือ เรื่องความเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ซึ่งช่วงนี้ต้องเป็นสมาชิกพรรค 30 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง สำหรับที่มีการย้ายพรรค ซึ่งเราก็มีระบบฐานข้อมูลดูอยู่แล้ว” เลขาธิการกกต. กล่าว.-สำนักข่าวไทย