กรุงเทพฯ 27 เม.ย.- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยคืนนี้ 22.25 น. ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 357,370 กิโลเมตร คืนนี้ วันที่ 27 เมษายน 2564 เวลา 22.25 น. ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกเห็นดวงจันทร์ใหญ่กว่าปกติในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
สำหรับผู้สนใจรับชมหรือถ่ายภาพปรากฏการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงจะขึ้นทางทิศตะวันออก สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น. เป็นต้นไป ปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
อ้างอิงข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
คืนนี้ 27 เมษายน 2564 พบกับปรากฏการณ์ #ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ #ซูเปอร์ฟูลมูน…โพสต์โดย NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เมื่อ วันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2021