วันขึ้นปีใหม่ไทย เดิมไม่ใช่ 1 มกราคม

สำนักข่าวไทย 1 ม.ค. 64 – “สวัสดีปีใหม่” ทุกคนนะคะ เข้าสู่ปี พ.ศ. 2564 ขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว แต่รู้ไหมคะว่าเดิมวันขึ้นปีใหม่ไทยไม่ใช่ 1 มกราคม แล้วเรากำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่เมื่อไร ไปดูกันเลยค่ะ

Highlight ประวัติวันขึ้นปีใหม่

  • เดิมไทยเรานับเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่
  • พ.ศ. 1901 (จุลศักราช 720) กำหนดให้เดือน 5 เป็นการพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตร ออกสนาม ที่หมายถึงขึ้นปีใหม่
  • สมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 สันนิษฐานได้ว่าคงจะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปีนักษัตรเป็นหลัก 
  • พ.ศ. 2417 เกิดประเพณีการเลี้ยงปีใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก ส่วนชาวบ้านถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่
  • พ.ศ. 2432 วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 1 เมษายน พอดี รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวัน 1 เมษายน 
  • พ.ศ. 2477 ประกาศให้มีงานรื่นเริงขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน เพื่อฟื้นฟูประเพณีวันขึ้นปีใหม่ที่ซบเซา
  • พ.ศ. 2484 มีมติให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม

เดิมวันขึ้นปีใหม่คือวันไหน?

ก่อนที่จะไปหาคำตอบว่าเรานับเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่เมื่อไร ไปดูกันก่อนดีกว่าค่ะว่าเดิมวันขึ้นปีใหม่เราตรงกับวันอะไร


เดิมไทยเรานับเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะคนโบราณนับข้างแรมเป็นต้นเดือน และเดือนอ้ายก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเป็นเดือนแรก ที่กำหนดเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปีสันนิษฐานว่าเพราะในระยะเวลาระหว่างนั้นอยู่ในฤดูหนาว พ้นจากฤดูฝนซึ่งอากาศมืดมัวมาเป็นสว่างเหมือนเวลาเช้าจึงได้นับเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปี

เมื่อจุลศักราช 720 (พ.ศ. 1901) ก็ไม่ได้กําหนดเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่ แต่กำหนดไว้ว่าเป็นเดือน 5 การพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตร ออกสนาม ที่หมายถึงขึ้นปีใหม่


ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 สันนิษฐานได้ว่าคงจะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปีนักษัตรเป็นหลัก และในรัชกาลที่ 5 ได้เกิดประเพณีการเลี้ยงปีใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2417 ดังปรากฏในพระราชพิธีสิบสองเดือน ส่วนตามแบบชาวบ้านถือเอาวันสงกรานต์เป็นหลัก

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่ไม่ได้กําหนดแน่นอนจนกว่าโหรจะได้คํานวณวันแล้วประกาศให้ทราบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะทรงพิจารณาเห็นความลําบาก จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ โดยให้เลิกใช้จุลศักราชในทางราชการ เปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทรศก เริ่มในปีรัตนโกสินทรศก 108 (พ.ศ. 2432) เป็นต้นมา และเรียกชื่อเดือนว่าเมษายน พฤษภาคม ฯลฯ ตามทางสุริยคติเป็นครั้งแรก รวมทั้งเรียกวันเป็นวันที่ 1 วันที่ 2 ฯลฯ ด้วย แต่ก็ยังให้ใช้วันเดือนปีตามจันทรคติคือวันขึ้นแรม เดือนอ้าย เดือนยี่ และปีชวด ฉลู หรือจุลศักราชต่อไปได้ เพราะเป็นหลักทางโหราศาสตร์ซึ่งราษฎรเคยใช้มาแล้ว

สรุปได้ว่า สมัยโบราณไทยอาจนับเอาวันแรม เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ จากนั้นเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 รวมทั้งมีวันสงกรานต์ด้วย ต่อมาในพ.ศ. 2432 วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 1 เมษายน พอดี รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวัน 1 เมษายน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ในปี ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าปีรัตนโกสินทรศกนับย้อนไปในอดีตได้เพียงร้อยปีเศษเท่านั้นไม่พอใช้จึงโปรดเกล้าฯให้เลิกใช้รัตนโกสินทรศก ให้ใช้พุทธศักราชแทนส่วนวันเดือนปีคงใช้ไปตามเดิม 

การกำหนดให้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ เหมือนจะถือกันเคร่งครัดเฉพาะในวงราชการเท่านั้น ส่วนชาวบ้านทั่วไป ยังคงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ. 2475 แล้ว ราชการพิจารณาว่าควรฟื้นฟูประเพณีวันขึ้นปีใหม่ที่ซบเซาไปนานให้ฟื้นขึ้นมาอีก จึงประกาศให้มีงานรื่นเริงขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรก 

ไทยกำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่เมื่อไร?

ตามที่ได้บอกไปว่าในปีวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ได้มีการประกาศให้มีงานรื่นเริงขึ้นปีใหม่เพื่อฟื้นฟูประเพณีวันขึ้นปีใหม่ที่ซบเซา แต่การฟื้นฟูทำได้ไม่กี่ปี คณะรัฐมนตรีก็ได้พิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะกรรมการได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม เริ่มต้นใน พ.ศ. 2484

สำหรับ “วันขึ้นปีใหม่” 1 มกราคม 2564 ที่จะถึงนี้ ทีมงานสำนักข่าวไทยขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพร่างกายแข็งแรง ต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกันนะคะ สวัสดีปีใหม่ค่ะ.-สำนักข่าวไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก : สงกรานต์ 3 วัน 13-15 เม.ย.เริ่มมีเมื่อใด ปีใหม่ไทยในอดีตเปลี่ยนไปมา ชาวบ้านตามตรวจดูวันเอง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2563, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_31026

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

เร่งประสานอินเตอร์โพลขอหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ”

ตำรวจเตรียมออกหมายจับเครือข่าย “หมอบุญ” ฉ้อโกง ลอต 2 รวมทั้งเร่งประสานอินเตอร์โพล ออกหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ” กลับมาดำเนินคดี

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ “ธัญพร มุ่งเจริญพร” เข้าป้าย

ศึกชิงนายก อบจ.สุรินทร์ ลุ้นกันจนนาทีสุดท้าย “ธัญพร มุ่งเจริญพร” พลิกชนะ “พรชัย มุ่งเจริญพร” แชมป์เก่าแบบขาดลอย คว้าเก้าอี้มาครอง นั่งนายก อบจ.หญิงคนแรกของจังหวัด

เลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ครึ่งวันเช้าคึกคัก

ภาพรวมการใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ครึ่งวันเช้าค่อนข้างคึกคัก มีประชาชนทยอยใช้สิทธิต่อเนื่อง ยังไม่มีรายงานการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง