สำนักข่าวไทย 10 พ.ย. 63 – “สาสน์ สาส์น สาร” อ่านว่าอะไร มันต่างกันไหมนะ แล้วต้องใช้แบบไหนนะ สาส์นจาก… หรือ สารจาก…โอ๊ยสับสนไปหมด น้องจุกมีคำตอบมาฝากกันคร้าบ ไปดูกันเลย!
สาสน์ สาส์น สาร อ่านว่าอะไร?
- สาสน์ (อ่านว่า สาด)
- สาส์น (อ่านว่า สาน)
- สาร (อ่านว่า สาน)
สาสน์ สาส์น มาจากไหน?
เดิมถ้าค้นหาคำว่า “สาส์น” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พิมพ์ครั้งที่ 4 จะไม่พบคำ “สาส์น” แต่จะพบ สาร (หน้า 815) และ สาสน์ (หน้า 818) เนื่องจากเป็นคำที่อ่านและเขียนผิดอักขรวิธีไทยของคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต
คำบาลีสันสกฤตนั้น พยัญชนะตัวที่ไม่มีรูปสระกำกับอยู่และไม่ใช่ตัวควบกล้ำหรือตัวสะกด จะอ่านเหมือนมีสระอะประสมอยู่เสมอโดยเฉพาะพยัญชนะตัวท้ายคำ
สาส์น เป็นคำมาจากบาลีว่า สาสน จึงต้องเขียนว่า สาสน์ (อ่านว่า สาด) จึงจะถูกต้องตามหลักอักขรวิธีไทยดังกล่าวข้างต้น และคำนี้มีแบบแผนการใช้มาแต่โบราณกับลิขิตของพระสังฆราช เช่น สมณสาสน์ พระราชหัตถเลขาทางราชการ เช่น พระราชสาสน์ เท่านั้น
ส่วนที่มีการใช้คำว่า “สาส์น” และอ่านว่า สาน คาดว่ามาจากชื่อหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” เป็นหนังสือที่รวบรวมจดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ ฯลฯ ระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก คำ สาส์น นี้จึงติดหูติดตาและนำไปใช้ในความหมายของ “จดหมาย” กันแพร่หลาย ที่ถูกแล้ว คำ สาส์น จะต้องถือว่าเป็นคำวิสามานยนาม เป็นคำยกเว้นที่ใช้เป็นชื่อหนังสือเล่มนี้เท่านั้น
ปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “สาร, สาสน์ และสาส์น” ไว้แล้ว
“สาร”
แก่น เนื้อแท้ที่แข็ง เช่น แก่นสาร ส่วนสำคัญ ข้อใหญ่ใจความ เช่น ไม่เป็นสาระ; ถ้อยคำ เช่น กล่าวสาร หนังสือ เช่น นิตยสาร จดหมาย เช่น เขียนสาร.
“สาสน์, สาส์น”
- คำสั่ง, คำสั่งสอน, เช่น สาสนธรรม
- จดหมายของประมุขของประเทศหรือประมุขสงฆ์ที่ใช้ในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
– ถ้าเป็นจดหมายของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า พระราชสาส์น
– ถ้าเป็นจดหมายของประธานาธิบดี เรียกว่า อักษรสาส์น เขียนเป็น อักษรสาสน หรือ อักษรสาสน์ ก็ได้
– ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่า สมณสาสน์
– ถ้าเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เรียกว่า พระสมณสาสน์
ฉะนั้น ถ้าต้องการจะหมายถึง “ถ้อยคำ หนังสือหรือจดหมายจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง” ให้ใช้คำว่า สาร เช่น สารจากนายกรัฐมนตรี, ประธานกรรมการ แต่ถ้าเป็นจดหมายของประมุขของประเทศหรือประมุขสงฆ์ที่ใช้ในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศใช้ สาสน์ หรือ สาส์น นะครับ
แล้วพบกับคำไทยใช้อย่างไรและน้องจุกได้ใหม่นะครับ สวัสดีครับ.-สำนักข่าวไทย
อ้างอิง
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. “สาสน์” “สาส์น” และ “สาร”. (ออนไลน์). สืบค้น 10 พฤศจิกายน 2563, จาก legacy.orst.go.th/?knowledges=สาสน์-สาส์น-และ-สาร