By ภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ
สำนักข่าวไทย 16 ก.ย. – คอคอดกระ หลายๆคนคงเคยได้ยินชื่อนี้แบบผ่านๆหูมาบ้างเราจะพาทุกๆคนไปทำความรู้จักคอคอดกระกัน
คอคอดกระ หรือ กิ่วกระ เป็นส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมลายูอยู่ในเขตบ้านทับหลี ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับ อำเภอสวี จังหวัดชุมพรพื้นที่บริเวณคอคอดกระ เป็นผืนแผ่นดินที่กิ่วหรือแคบที่สุดในคาบสมุทรมลายู ระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร
คอคอดกระ มีระยะทางจากฝั่งทะเลตะวันตกจรดฝั่งตะวันออกกว้างเพียง 50 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนนี้นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ได้รับความสนใจตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในการที่จะขุดคลองตัดผ่านจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสคิดจะขุดคอคอดกระเพื่อร่นระยะทางในการเดินเรือจากฝั่งทะเลอันดามันข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย โดยไม่ต้องอ้อมไปทางคาบสมุทรมลายู แต่เนื่องด้วยความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับอังกฤษที่เป็นเจ้าของกิจการท่าเรือในปีนังและสิงคโปร์โครงการนี้จึงต้องระงับไป
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองในสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ ไทยยินยอมที่จะไม่ขุดคลองคอคอดกระ หากไม่ได้รับความยินยอมจากอังกฤษก่อน เพื่อยุติภาวะสงครามระหว่างสยาม อังกฤษ และอินเดีย
ต่อมาปี 2501 ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอให้ขุดคลองแต่ยังคงไม่มีการขุดคลองแต่อย่างใดจวบจนปัจจุบัน ซึ่งมีหลายเหตุผลคัดค้านรวมถึงไม่ต้องการให้ประเทศไทยแยกออกเป็นสองส่วนผนวกกับประเทศสิงคโปร์กลัวจะเสียผลประโยชน์ด้วย
พ.ศ. 2544 วุฒิสภา ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ ผลการศึกษานั้น ตัดคำว่าคอคอดกระ และให้ใช้คำว่า “คลองไทย” แทน เพราะบริเวณที่จะขุดเชื่อมทะเลสองฝากฝั่งนั้น อาจไม่ใช่คอคอดกระ
ด้วยเหตุผลทางวิศวกรรมศาสตร์ และทางภูมิศาสตร์ เพราะสภาพพื้นที่บริเวณคอคอดกระ เป็นภูเขาและหิน และปัญหาความมั่นคง เนื่องจากบริเวณคอคอดกระอยู่ที่ชายแดนพม่าปากแม่น้ำกระบุรี การขุดคลองไทย คือ เส้นทาง 9A ผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ระยะทาง 120 กิโลเมตร ซึ่งคลองไทย สามารถร่นระยะเวลาเดินทางอ้อมแหลมมลายูได้ 2 วัน
รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เคยจะทำโครงการแลนด์บริดจ์ที่มีทั้งถนน ทางรถไฟ ท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยมูลค่าลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท แต่โครงการหยุดชะงักไปหลังถูกปฏิวัติเมื่อปี 2549 จนมาถึงรัฐบาล คสช. ซึ่งทางการจีนเข้ามาเสนอตัวจะทำโครงการอีกครั้ง
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่ารัฐบาลไทยเตรียมปัดฝุ่นโครงการขุดคลอง และก่อสร้างถนน-ทางรถไฟ เชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการ “คอคอดกระ” อีกครั้ง ทำให้สื่อต่างชาติโดยเฉพาะจีนและอินเดียที่กำลังเป็นคู่ขัดแย้งเรื่องพรมแดน ต่างหันมาจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด อ่านข่าวเพิ่มเติม คลิก