สำนักข่าวไทย 8 ก.ย. 63 – “สิริมงคล” หรือ “ศิริมงคล” คำที่หลาย ๆ คนมักเขียนผิด ที่ถูกต้องคือแบบไหนกันแน่นะ? น้องจุกมีคำตอบมาฝากทุกคนครับ
เวลาที่เพื่อน ๆ ไปวัด ไปทำบุญ หรือทำสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ เพื่อให้ชีวิตดี ทุกคนมักจะคุ้นเคยกับคำว่า เป็นสิริมงคล, เป็นศิริมงคล แต่รู้ไหมครับว่า คำไหนคือคำที่ถูกต้อง?
คำที่ถูกต้องคือ “สิริ” นะครับ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า สิริ เอาไว้ดังนี้
- เป็นคำกริยา แปลว่า ผสม เช่น สามีภรรยาสิริอายุเข้าด้วยกัน 150 ปี, รวม เช่น สิริอายุได้ 72 ปี.
- เป็นคำนาม แปลว่า ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล มาจากภาษาบาลี ส่วนภาษาสันสกฤตเขียนว่า ศรี
- เป็นคำนาม แปลว่า สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม. มาจากภาษาบาลี ส่วนภาษาสันสกฤตเขียนว่า ศรี
เข้าใจแบบนี้แล้วคราวนี้เวลาที่เพื่อน ๆ ไปวัดทำบุญ อย่าลืมใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกันด้วยนะครับ แล้วพบกับ “คำไทยใช้อย่างไร” และน้องจุกกันอีกนะครับ สวัสดีครับ.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา | https://dictionary.apps.royin.go.th/