สำนักข่าวไทย 11 ส.ค. 63 – “ลางไม่ดี” – “รางไม่ดี” เขียนแบบไหนถึงจะถูกนะ? น้องมะลิและน้องจุก มีคำตอบมาฝากทุกคนค่ะ
ความหมายของคำว่า “ราง” และ “ลาง” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
“ราง”
- เป็นนาม หมายถึง ร่องที่ขุดเป็นทางสำหรับให้น้ำไหล, สิ่งสำหรับรองน้ำฝนที่ชายคา มักทำด้วยสังกะสียาวเป็นแนวไปตามชายคา, ไม้ที่ขุดหรือต่อให้เป็นร่องยาว ๆ หรือปล้องไม้ไผ่ผ่าซีก มีด้านสกัดหัวท้าย สำหรับใส่อาหารหมูหรือย้อมผ้าเป็นต้น
- โดยปริยายเรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น รางระนาด
- เหล็กที่ใช้เป็นทางเดินของล้อเลื่อน เช่น รางรถไฟ
เป็นกริยา หมายถึง คั่วข้าวเม่าให้กรอบ เรียกข้าวเม่าที่เอามาคั่วให้กรอบว่า ข้าวเม่าราง
- เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ไม่กระจ่าง ไม่ชัดเจน เช่น เห็นราง ๆ ภาพราง ๆ
“ลาง”
- เป็นนาม มี 3 ความหมาย คือ
- สิ่งหรือปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่าจะบอกเหตุดีหรือเหตุร้าย
- หมาก ขนุน เรียกว่า หมากลาง (ไทยใหญ่)
- นกกะลาง
- เป็นวิเศษณ์ หมายถึง ต่าง แต่ละ บาง เช่น ลางคน ลางสิ่งลางอย่าง
สรุปแล้ว คำที่ถูกต้องจะต้องใช้ว่า “ลาง” ที่หมายถึงสิ่งหรือปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่าจะบอกเหตุดีหรือเหตุร้าย…อย่าลืมใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกันนะคะ.-สำนักข่าวไทย