กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – สภาเกษตรกรฯ เสนอมาตรการเร่งด่วน ตั้งกองทุนดูแลเกษตรกร เร่งจ่ายเงินเยียวยา หารือทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหาโรคระบาด หนุนตั้งเอกชนร่วมผลิตวัคซีน ผลักดันประกันภัยสุกร ลดความเสี่ยงโรคระบาด
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะทำงานแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคในสุกร ครั้งที่ 4/2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom) จึงต้องเร่งแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ขณะนี้ได้กลายพันธุ์แพร่กระจายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก , โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร(PRRS) นับว่าสร้างส ความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เกษตรกรต้องสูญเสียสุกร ป่วยตายจากโรคถึงร้อยะ 30
เกษตรกรจึงไม่สามารถเลี้ยงสุกรต่อไปได้ เนื่องจากเชื้อโรคยังสะสมอยู่ในพื้นที่ ทำให้เกิดโรคซ้ำในคอกหรือฟาร์มจนเกษตรกรรายย่อยหมดตัวไปแล้วหลายราย อนาคตอาจถึงขั้นต้องสูญเสียอาชีพการเลี้ยงสุกร กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง มูลค่าความเสียหายโดยรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบจำนวนมาก ฟื้นฟูอาชีพ เกษตรกร กระทบต่อการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกร มูลค่าไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาชีพแก่เกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารของ ไทย คณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมปศุสัตว์ ผู้แทนผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาค และเอกชนผู้ประกอบการการเลี้ยงสุกร จึงเสนอเชิงนโยบาย “โครงการฟื้นฟูเยียวยาและปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลางถึงรายย่อยทั้งประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืน” ขอให้ออกมาตรการเร่งด่วนทันที ประกอบด้วย การเร่งจ่ายเงินเยียวยาเพื่อชดเชยความเสียหายจากโรคระบาดกับเกษตรกร รายกลาง รายเล็ก รายย่อย ซึ่งทำลายซากสุกรไปแล้ว , รัฐบาลควรจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย เพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลาง ปรับปรุงโรงเรือน สถานที่ และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ยกระดับไปสู่ระบบ GFM ของกรมปศุสัตว์ และผู้ประกอบการโรงฆ่าสุกร โรงงานแปรรูป ปรับปรุงโรงเรือนและกระบวนการผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP , HACCP หรือระบบของกรมปศุสัตว์
การนำนำระบบ Zoning และCompartment มาใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์ การขึ้นทะเบียนคนกลางรับซื้อสุกร( broker) ทุกรายทุกขนาด การปรับปรุงแก้ไข กฏหมาย ประกาศกระทรวง และระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาวงการสุกรทุกระดับ การเสนอแนะ ให้การจัดตั้งกองทุนสุกร ให้เป็นรูปธรรม เพื่อนำเงินกองทุนมาดูแลปัญหา ทั้งโรคระบาดรุนแรง การแทรกแซงราคาตลาด ได้อย่างทันท่วงทีผ่านกองทุน ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือ
การนำระบบเศรษฐกิจใหม่ BCG Model มาใช้ในวงการปศุสัตว์ มาตรการระยะปานกลาง ภายใน 3 ปี ได้แก่ การเร่งรัดให้กรมปศุสัตว์ เพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัย ชันสูตรโรค ที่ได้มาตรฐาน ทั้งกำลังคนและเครื่องมือ หรือสร้างเครือข่ายการชันสูตรโรคกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในภูมิภาค เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ในการเคลื่อนย้ายและควบคุมโรค การสนับสนุนให้มีการวิจัยวัคซีน และชีวภัณฑ์ต่างๆเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์
มาตรการระยะยาว ภายใน 5 ปี ได้แก่ การกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย หรือควบคุมโรคได้ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ , สนับสนุนให้ภาคเอกชน หรือกลุ่มเกษตรกร ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในประเทศและจำหน่ายในกลุ่มอาเซียนโดยอาจอยู่ในรูป 4 P (Public , Private , Professional , People Partnership) มาตรการดังกล่าวนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ พร้อมผลักดันเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา.-สำนักข่าวไทย