ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 3 พฤษภาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริง / เรียบเรียง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, กลาง ณัฐนที
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บนสังคมออนไลน์ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย มีการส่งต่อภาพและคลิปวิดีโอจำนวนมาก ซึ่งอ้างว่า เป็นภาพเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง สืบหาต้นตอแล้ว โดยส่วนใหญ่ภาพและคลิปเหล่านั้น มักจะไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 แต่อย่างใด
เทคนิคการพิจารณา ภาพหรือคลิปผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตที่มีการส่งต่อกัน
- เข้าใจว่า การที่เจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันดังภาพและคลิปต่าง ๆ นั้น ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตเป็นโควิด-19 แต่เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตามมาตรการป้องกันขั้นสูงสุดเท่านั้น กระบวนการในการตรวจหาเชื้อจะเกิดขึ้นภายหลัง
- ตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นคลิปหรือภาพเก่า
- ตั้งสมมติฐานว่า อาจเป็นคลิปหรือภาพที่ไม่เกี่ยวข้อง
- สืบหาต้นตอของคลิป เช่น ค้นหาจากชื่อสถานที่ที่มีการกล่าวอ้างถึง ค้นหาจากเพจของกู้ภัย เพื่อทำให้เข้าใจบริบทของเหตุการณ์อย่างแท้จริง
- ค้นหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานทางการ เช่น หากระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตหรืออำเภอใด อาจจะติดต่อหรือเข้าไปยังเว็บไซต์หรือเพจของสำนักงานเขต หรือ ที่ทำการท้องที่นั้น ซึ่งอาจมีการชี้แจงไว้ก่อนแล้ว
- พึงตระหนักว่า การแชร์ข้อมูลภาพผู้เสียชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไปเสมอไป ประชาชนบางท่านอาจไม่ต้องการเห็นภาพเหล่านี้ และหลายครั้งเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เสียชีวิตหรือผู้ป่วยอีกด้วย
“ใกล้เข้ามาแล้วสุรวงศ์ นอนเสียชีวิตอยู่บนฟุตบาท…“
ข้อมูลที่แชร์ : บนสังคมออนไลน์ แชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่าย เจ้าหน้าที่สวมชุด PPE เก็บร่างผู้เสียชีวิตข้างถนน จึงเกิดการคาดเดาว่าอาจเสียชีวิตเพราะโควิด-19
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์
ข้อเท็จจริง : สำนักงานเขตบางรักชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 04.20 น. บริเวณทางเดินเท้าหน้าโรงแรมอมรา ถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ ผู้เสียชีวิตเป็นชาย ไม่ทราบชื่อ-สกุล อายุประมาณ 50 ปี ผลการชันสูตรศพพบว่า เสียชีวิตเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่เพราะโควิด-19 อย่างที่มีการคาดเดากันแต่อย่างใด
ข้อมูลเพิ่มเติม :
https://www.facebook.com/113980628639203/posts/3941949702508924/?d=n
“เริ่มทยอยตายเรี่ยราดตามท้องถนนเหมือนอินเดียละ ผู้เสียชีวิตยังไม่ทราบสาเหตุในปั๊มบางจากข้างโรงพยาบาลสุขสวัสดิ์ พื้นที่ สน.ราษฎร์บูรณะ...“
ข้อมูลที่แชร์ : บนสังคมออนไลน์ แชร์คลิปวิดีโอความยาว 00.44 นาที เป็นภาพเจ้าหน้าที่สวมชุด PPE พ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อผู้เสียชีวิตที่มีผ้าสีขาวคลุมร่าง ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและสงสัยว่าอาจเสียชีวิตจากโควิด-19 คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกแชร์ร่วมกับข้อความที่บอกว่าเป็นสถานที่อื่น เช่น ที่สำโรงปากซอยวัดด่าน
บทสรุป : ยังไม่มีการยืนยัน ไม่ควรแชร์
ข้อเท็จจริง : มีผู้แชร์ข้อมูลว่า เหตุการณ์ในคลิปวิดีโอ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ณ ปั๊มน้ำมันบางจาก ข้างโรงพยาบาลสุขสวัสดิ์ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย ขับรถจักรยานยนต์มานั่งพักที่จุดเกิดเหตุแล้วเสียชีวิต ต่อมาในวันที่ 3 เมษายน 2564 ผู้ใช้งาน Facbook ชาคริต ยิ่งยง ได้โพสต์คลิปวิดีโอชี้แจงว่า ชายคนดังกล่าวเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่เพราะโควิด-19 อย่างที่มีการแชร์กัน และขอร้องให้ผู้ที่แชร์ต่อ กรุณาลบคลิปดังกล่าวออกไปด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม :
https://facebook.com/100042480672444/videos/468842727875079/
“ตลาดรังสิตมีคนตายกลางตลาดเลย…“
ข้อมูลที่แชร์ : บนสังคมออนไลน์ แชร์รูปภาพเจ้าหน้าที่สวมชุด PPE เก็บร่างชายเสียชีวิตกลางตลาด พร้อมข้อความระบุว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตกลางตลาดรังสิตนั้น
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์
ข้อเท็จจริง : เดลินิวส์ออนไลน์ และ ประชาไทนิวส์ออนไลน์ รายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 20.30 น. ผู้เสียชีวิตคือนายจำเริญ บุญเลิศ อายุ 61 ปี มีอาชีพรับจ้างขนผักในตลาด มีโรคประจำตัวคือโรคหอบหืด ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มหัวฟาดพื้นที่ตลาดพรพัฒน์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี นอกจากนี้ เพจ Facebook ตลาดรังสิต ยืนยันว่า ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ตลาดรังสิต และตลาดรังสิตยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยโควิด-19
ข้อมูลเพิ่มเติม :
https://facebook.com/pracharthai/posts/1012085062528764?refid=52&__tn__=R
https://facebook.com/story.php?story_fbid=5427438117298004&id=200661606642374
https://www.dailynews.co.th/regional/840815?fbclid=IwAR0mS9LyiBAZlmTbkAfn6tuN5peWkQKeGa3I37vmfiCfMjgVAX6p8mNkM-U
🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” 🎯
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter