กรุงเทพฯ 29 พ.ย.- CEO ไทยออยล์เร่งเจรจาปัญหา โครงการพลังงานสะอาด CFP กับผู้รับเหมาหลักบนผลประโยชน์ถือหุ้น มีแผนงานที่ชัดเจน ต้นปี 2568 แย้มมีพันธมิตรสนใจร่วมทุน
นายบัณทิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ในขณะนี้บริษัทเร่งเจรจาปัญหา โครงการพลังงานสะอาด CFP กับผู้รับเหมาหลัก The Consortium of PSS Netherlands B.V. (Offshore Contractor) และ Unincorporated Joint Venture of Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (เดิมชื่อ Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.), Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (Onshore Contractor) (เรียกรวมกันว่า “UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem”) เพื่อให้ดำเนินการตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ โดยบริษัทขอยืนยันทุกแนวทางที่เจรจาจะมีการใช้สิทธิตามสัญญาที่มีอยู่ และรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น ขอให้มั่นใจว่ามีแผนงานที่ชัดเจน คาดว่าจะสรุปและเปิดเผยได้ในต้นปี 2568 และจะมีการเสนอคณะกรรมการบริษัทให้เห็นชอบ หลังจากนั้นจะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นราวเดือนเมษายน 2568 เพื่อความโปร่งใส ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทุกประการ
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ทำให้โครงการ CFP จะต้องล่าช้าจากแผนงานเดิมจะเสร็จสิ้นทั้งหมด ภายในปี 2568 โดยทางออกจะมีความชัดเจนว่าโครงการจะกำหนดเสร็จสิ้นเมื่อใด ซึ่งอาจจะต้องเม็ดเงินลงทุนเพิ่ม จากที่เม็ดเงินโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 5,375 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างดำเนินการบริหารจัดการโครงการอย่างดีที่สุด ทางด้านการเจรจาสัญญา การควบคุมต้นทุน และบริหารความเสี่ยง
“ในแง่ความล่าช้า จากที่ CFP ไม่ได้เปิดตามกำหนดในปี 2568 อาจจะไม่ได้กระทบในแง่ผลดำเนินการของบริษัทมากนัก เพราะหากดูภาพรวมของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีในปีหน้า แม้ค่าการกลั่นจะดีขึ้นกว่าปีนี้บ้าง แต่ก็คาดว่าจะมีผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่สดใส และยังมีปัญหาสงครามการค้า หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย” นายบัณฑิต กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า โครงการ CFP ในขณะนี้มีความก้าวหน้าประมาณ 90% โดยการก่อสร้างยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ได้มีการหยุดก่อสร้างแต่อย่างใด ซึ่งจากปัญหาระหว่างผู้รับเหมาหลักกับผู้รับเหมาช่วง ได้ส่งผลทำให้มีการก่อสร้างลดน้อยลงจากแผนงานที่กำหนด ซึ่งบริษัทมีความเห็นใจผู้รับเหมาช่วง และพยายามเจรจาทั้งผู้รับเหมาหลักและบริษัทแม่ให้จ่ายเงินคงค้างให้ผู้รับเหมาช่วงโดยเร็ว
ส่วนนโยบายของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบมจ.ไทยออยล์ มีแผนจะเจรจากับพันธมิตร เพื่อเข้ามาร่วมทุนในธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีเพื่อความเข็มแข็งของกลุ่ม ปตท. นั้น นายบัณฑิต กล่าวว่า หากมีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนในโรงกลั่นไทยออยล์ ก็จะเป็นการดำเนินการโดยบริษัทแม่ ซึ่งหากเข้ามาในช่วงที่กำลังก่อสร้าง CFP ก็จะทำให้เม็ดเงินการร่วมทุนของพันธมิตรจะจ่ายในวงเงินที่ต่ำกว่าช่วงที่โครงการ CFP แล้วเสร็จ เพราะโครงการ CFP เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านการกลั่นน้ำมันของบริษัท และสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงงานของประเทศ ซึ่งจะให้ค่าการกลั่นและผลตอบแทนโดยรวมดีขึ้น เพราะมีหน่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และจะส่งผลทำให้กำลังกลั่นเพิ่มจาก 2.7 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะมีการกลั่นดีเซลและน้ำมันเครื่องบิน (เจ๊ท) เพิ่มขึ้น โดยยอมรับว่าในขณะนี้มีผู้สนใจที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรอยู่บ้างแล้ว
นายบัณฑิต ยืนยันสัญญาก่อสร้าง หรือ สัญญา EPC ระหว่าง ไทยออยล์ กับผู้รับเหมาหลักได้มีการพิจารณาอย่างรัดกุม ระบุหลักการสำคัญหลายประการในสัญญา เช่น การกำหนดขั้นตอนในการทดสอบและการส่งมอบโครงการ การรับประกันคุณภาพ, เงื่อนไขความรับผิดชอบ และสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นต้น หากเกิดกรณีผิดสัญญาหรือเลิกสัญญา บริษัทสามารถที่จะเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของสัญญาโดยที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าโครงการนี้เกิดขึ้นและมีปัญหาช่วงโควิด-19 ไทยออยล์และผู้รับเหมาหลัก ได้ร่วมมือแก้ปัญหาและแก้ไขสัญญา EPC โดยไทยออยล์ให้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 550 ล้านเหรียญสหรัฐไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 จึงทำให้โครงการนี้วงเงินลงทุนเพิ่มเป็น 5,375 ล้านเหรียญ
แหล่งข่าวจากผู้รับเหมาช่วง ระบุว่า ในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้รับเหมาหลักเร่งจ่ายเงินที่คงค้างรวมมากว่า 4,000 ล้านบาทนั้น ในขณะนี้ UJV เริ่มทยอยจ่ายหนี้คงค้างบางส่วนบ้างแล้ว แต่เนื่องจากหนี้คงค้างมีปริมาณสูงและผู้รับเหมาช่วงขาดสภาพคล่อง จึงไม่สามารถที่จะจ้างแรงงานเพื่อก่อสร้างโครงการได้ตามเดิม ที่มีการจัดจ้างกว่าหมื่นคน โดยขณะนี้ลดเหลือไม่กี่พันคน และส่งผลให้โครงการนี้ต้องล่าช้า โดยผู้รับเหมาช่วง อยากเห็นรัฐบาลช่วยเจรจาให้ผู้รับเหมาหลักมาจ่ายเงินให้ครบตามสัญญาโดยเร็ว เพราะทั้งผู้ประกอบการและแรงงานเดือดร้อนอย่างหนัก .-511 -สำนักข่าวไทย