พังงา 4 ต.ค. – อร่อยเลื่องลือ “ปลาฉิ้งฉ้างเกาะยาว” ของดี จ.พังงา ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดในประเทศไทย สร้างรายได้เดือนละหลายล้านบาท แหล่งเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชนชาวเกาะยาว
นายวิทูล บุญสบ กำนัน ต.พรุใน และนายอนุพงษ์ อาษาราษฎร์ รองนายกเทศมนตรีตำบลเกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา นำผู้สื่อข่าวไปที่ท่าเรือแหลมใหญ่ ต.พรุใน อ.เกาะยาว จ.พังงา เพื่อดูเรือประมงจับปลาฉิ้งฉ้างที่กลับเข้ามาเทียบท่า และชาวประมงกำลังนำปลาฉิ้งฉ้างสดจากเรือขึ้นรถกระบะนำไปส่งยังโรงงานบนเกาะยาวใหญ่ โดยปลาฉิ้งฉ้างนั้นถูกต้มให้สุกมาแล้วในเรือ ใส่มาในถ้าย (ตะกร้าพลาสติกทรงกลม แบบตื้นและกว้าง) วางซ้อนกันเป็นชั้นๆ เมื่อชิมดูพบว่า รสชาติเค็มๆ มันๆ
จากนั้นได้พาไปชมกระบวนการผลิตเป็นปลาฉิ้งฉ้างอบแห้ง ที่โรงงานปลาฉิ้งฉ้าง “ขวัญฤทัย ปลากะตัก” ในพื้นที่ ต.พรุใน ซึ่งมีคนงานและเจ้าของโรงงานกำลังทำงานกันจ้าละหวั่น ทั้งนำปลากะตักเข้าไปในเตาอบ เมื่อแห้งได้ที่ก็นำออกมาใส่ในตะกร้าใบหนึ่ง ก่อนนำไปใส่ในเครื่องแยกขนาดตัวปลา แล้วนำมาคัดคุณภาพ เอาปลาชนิดอื่นและเศษปลอมปนออก ก่อนจะตั้งวงคัดใส่ถุงอีกครั้ง ให้ลูกค้ามารับไปขายต่อ ซึ่งพบว่าสินค้าปลาฉิ้งฉ้างเกาะยาว ส่งขายออกนอกพื้นที่เดือนละหลายล้านบาท
นางขวัญฤทัย นาวีว่อง อายุ 60 ปี เปิดเผยว่า ปลาฉิ้งฉ้าง เป็นปลาประเภทเดียวกับปลากะตักของภาคกลาง เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีมากในทะเลเกาะยาว แต่เดิมมีเรือออกไปจับแล้วนำมาขายให้โรงงาน และได้สร้างโรงงานแปรรูปเองประมาณ 6 ปีแล้ว โดยนำปลาจากเรือของครอบครัวและญาติๆ ที่ออกไปจับนำมาแปรรูป ก่อนจะส่งขายให้กับโรงงานและพ่อค้าที่ส่งไปขายนอกพื้นที่ ทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ ในราคา 150-170 บาท/กิโลกรัม
สำหรับความอร่อยของปลาฉิ้งฉ้างเกาะยาว ที่มีเสียงลือเสียงเล่าว่า “อร่อยที่สุดในประเทศไทย” มาจากเราใช้เรือประมงขนาดใหญ่ เมื่อจับปลามาได้แล้วก็จะต้มให้สุกบนเรือทันที ทำให้ได้ตัวปลาที่สมบูรณ์ รสชาติดี มีความมัน เค็มน้อย เพราะหากทิ้งเอาไว้ ปลาสดจะท้องแตก หัวหลุด ทำให้ไม่อร่อย และไม่ได้ราคาทันที
นายวิทูล บุญสบ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาฉิ้งฉ้าง กลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ ด้วยการจับและแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง หรือปลากรอบ ปลาฉิ้งฉ้างไม่เพียงสร้างรายได้ให้กับชาวประมงท้องถิ่น แต่ยังเป็นส่วนประกอบหลักในเมนูอาหารพื้นบ้าน การจับปลาฉิ้งฉ้าง เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนมายาวนาน ชาวบ้านได้มีการปรับตัวให้การประมงปลาฉิ้งฉ้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แหล่งปลานี้ยังคงอยู่สำหรับอนาคต การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ชุมชนให้ความสำคัญ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง. – สำนักข่าวไทย