กรุงเทพฯ 21 ม.ค. – ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเตือนให้เฝ้าระวังการสะสมตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ได้รับรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันนี้ (21 มกราคม) เมื่อเวลา 07:00 น. พบว่า ปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ในทุกภาคของประเทศ จังหวัดที่เกินค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) มี 33 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ พะเยา เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ราชบุรี ชลบุรี ระยอง หนองคาย นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ และนครราชสีมา
สำหรับผลการตรวจวัดรายภาคปรากฏว่า ภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 32 – 72 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 35 – 108 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก ตรวจวัดได้ 49 – 79 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก ตรวจวัดได้ 38 – 55 มคก./ลบ.ม. มีเพียงภาคใต้ที่ตรวจวัดได้ค่าไม่เกินมาตรฐาน 13 – 37 มคก./ลบ.ม. ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากการตรวจวัดโดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ตรวจวัดได้ 50 – 105 มคก./ลบ.ม.
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์
“จากการคาดการสภาพอากาศของตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (22 มกราคม) – 26 มกราคม แนวโน้มการสะสมของฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ที่คุณภาพอากาศดี” นายอรรถพลกล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า ศกพ. คาดการณ์ว่า ในปีนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเกิดสภาวะที่มีฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นในอากาศจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 6 ครั้ง เกิดแล้ว 3 ครั้ง อีก 3 ครั้งจะเกิดภายในเดือนกุมภาพันธ์ แต่หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ โดยไม่นำรถยนต์ที่มีควันดำมาขับ ควบคุมการปล่อยฝุ่นละอองจากสถานที่ก่อสร้างซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นควันในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดปฏิบัติตามการจัดระเบียบการเผา โดยแต่ละจังหวัดจะมีแผนว่า ห้วงเวลาใด อนุญาตให้ใครเผาได้ เผาได้มากน้อยแค่ไหน หรือเวลาใดต้องหยุดเผาจะทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ในปี 2563 จนถึงขณะนี้ ตรวจจับควันดำ ได้ทำให้รมควันดำไม่วิ่งบนท้องถนนแล้ว 1,000 กว่าคัน ร่วมกับค่ายรถยนต์ทุกค่าย ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดการเผา กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนการรับซื้ออ้อยไม่ไหม้ไฟซึ่งลดไปได้กว่า 80% บริษัทผลิตน้ำมันลดราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมี่ยมที่ปลอดกำมะถันในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อไปจะขยายให้เป็นทั่วประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2562/2563 กับ 2563/2564 นั้น ในปี 2563/2564 จำนวนวันและห้วงเวลาที่เกิดฝุ่น PM 2.5 ลดลง พื้นที่ที่เกิดลดลงทำให้ความหนาแน่นของ PM2.5 รายปีลดลง ปี 2562 ค่าเฉลี่ย 25-26 มคก./ลบ.ม.
ปี 64 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะจะเกิดสภาวะที่ฝุ่นละอองสะสมหนาแน่นมากๆ เช่นนี้ 6 ครั้ง เกิดแล้ว 3 ครั้ง อีก 3 ครั้งจะเกิดภายในเดือนกุมภาพันธ์ จึงขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามคำแนะนำของศกพ. และทางจังหวัดซึ่งมีแผนจัดระเบียบการเผาในแต่ละพื้นที่ . – สำนักข่าวไทย