ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ทรงกลด เกิดจากบรรยากาศของโลกในชั้นโทรโพสเฟียร์ ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นล่างสุดและเป็นที่อยู่ของกลุ่มเมฆจำนวนมาก มีอากาศเย็นจัดจนทำให้ละอองน้ำในอากาศแข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งอนุภาคเล็กๆ จำนวนมหาศาลลอยอยู่บนท้องฟ้า เมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงทำมุมกับเกล็ดน้ำแข็งอย่างเหมาะสม จะเกิดการหักเหและการสะท้อนของแสง ทำให้เกิดเป็นแถบสีรุ้ง คล้ายการเกิดรุ้งกินน้ำหลังฝนตก
ดวงอาทิตย์ทรงกลด จะเกิดเป็นวงหรือเรียกว่า ฮาโล (Halo) รอบดวงอาทิตย์ สามารถเกิดเป็นวงกลม วงรี หรืออาจเกิดไม่เต็มวงก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของการกระจายตัวของผลึกน้ำแข็งในบรรยากาศ และมีขนาดแตกต่างกันออกไป ส่วนมากจะมีขนาดเชิงมุมเฉลี่ยประมาณ 44 องศา โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ดวงอาทิตย์ ระยะเวลาการเกิดปรากฏการณ์แต่ละครั้งไม่สามารถคาดการณ์ได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณเกล็ดน้ำแข็งบนท้องฟ้าในขณะนั้น ดวงอาทิตย์ทรงกลด เป็นปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่สามารถอธิบายได้ ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และไม่เกิดผลกระทบใดๆ ต่อโลก . -สำนักข่าวไทย
ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
📷 ภาพถ่ายโดย ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช ทีมช่างภาพสำนักข่าวไทย อสมท