แอมเนสตี้ ประเทศไทย ตัวแทนนักกิจกรรมและนักวิชาการที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร่วมยื่นหนังสือและหกข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยเพื่อให้ยุติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง ระบุที่ผ่านมา ข้อกล่าวหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงมากที่สุด และมีอย่างน้อย 1,467 คนถูกดำเนินคดีดังกล่าว
“ปิยนุช โคตรสาร” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และผลกระทบที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในประเทศไทย เราพบว่า มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้วถึง 19 ครั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกข้อกำหนดตามมาถึง 47 ฉบับ นับถึงเดือนมิถุนายน 2565 โดยแต่ละฉบับวางมาตรการใหม่ในการควบคุมโรคและแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการเดิม เช่น การประกาศห้ามออกนอกเคหสถานตามช่วงเวลาที่กำหนด (เคอร์ฟิว) การสั่งปิดสถานที่ การห้ามทำกิจกรรม และรวมไปถึงการสั่ง “ห้ามชุมนุม” เป็นต้น
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเห็นว่า การประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและข้อกำหนดดังกล่าว เป็นการประกาศใช้ข้อบังคับในภาวะฉุกเฉินเกินความจำเป็น และส่งผลกระทบต่อสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการสมาคม รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วง และสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ”
ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช