กรุงเทพฯ 9 ก.ย.- นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มองกรณีข่าว “ลุงพล” สื่อบิดข่าวจากอาชญากรรมเป็นเรียลลิตี้โชว์ หวังแค่เรตติ้ง-รายได้ ส่อหมิ่นเหม่ผิดจริยธรรมสื่อ แนะสื่อควบคุมกันเอง
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.หอการค้าไทย ในฐานะนักวิชาการนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวถึงกรณีที่สื่อบางช่องพยายามนำเสนอข่าว “ลุงพล” ในปัจจุบันว่า แม้ข่าวนี้จะยังมีคนบางกลุ่มติดตาม แต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในด้านการนำเสนอข่าว ซึ่งเป็นข่าวที่เริ่มจากข่าวอาชญากรรม จนวันนี้กลายเป็นข่าวกึ่งวาไรตี้ กึ่งเรียลลิตี้ ปั้นคนในข่าวเป็นเซเลบคนใหม่ ทั้งหมดนี้จึงถูกสังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและเรื่องจรรยาบรรณอยู่พอสมควร อันนี้ก็เป็นภาพสะท้อนการทำหน้าของสื่อมวลชน แน่นอนเรื่องเรตติ้งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ซึ่งถ้าเกิดเรื่องของลุงพลเป็นเรื่องที่มาจากวาไรตี้หรือรายการโชว์ก็จะไม่มีปัญหา แต่มันเริ่มต้นมาจากข่าวอาชญากรรมที่วันนี้ก็ยังไม่คลี่คลายชัดเจน
“ผมคิดว่าในเชิงวิชาชีพต้องคุยกันว่า เส้นบางๆ ระหว่างข่าว กับความบันเทิงที่เป็นเรียลลิตี้โชว์มันควรอยู่ตรงไหน”
ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า ปัญหาตรงนี้จะโทษส่วนของคนทำงานสื่อเพียงอย่างเดียวคงไม่ถูกต้องนัก ต้องมองที่ผู้เสพข่าว หรือประชาชนด้วย ถ้ายังมีประชาชนสนับสนุน ในอนาคตเราจะเห็นคนดังที่เกิดจากข่าวอาชญากรรมหรือข่าวอื่นๆ เต็มไปหมดเลย
“ชัดเจนครับเรื่องของเรตติ้ง เรื่องของรายได้ เพื่อความอยู่รอดขององค์กร เชื่อว่าคนทำงานสื่อหลายคนตั้งคำถาม”
เมื่อถามว่ากรณีสื่อบางช่องตามติดข่าว “ลุงพล” ถือว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมสื่อด้านใดหรือไม่นั้น ดร.มานะ กล่าวว่า มันหมิ่นเหม่ คือมันไม่ถึงขั้นผิดกฎหมายหรือจริยธรรม และมันขึ้นกับความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งตรงนี้คุยกันได้ ว่ามันเกินไปนะ
“เรื่องนี้อาจไม่ต้องมีหน่วยงานใด หรือ กสทช.ลงไปดูแลควบคุม เชื่อว่าคนที่ทำงานสื่อควรคุยกันเอง ตั้งเป็นกรอบของตัวเอง เรื่องพวกนี้ต้องคุยกันเองควบคุมกันเอง”
ส่วนกรณีที่มีหัวหน้าช่างภาพทีวีช่องหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กถึงความอัดอั้นในการทำข่าวลุงพลถึงขั้นลาออกนั้น ดร.มานะ ระบุว่า ยังไม่ทราบข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง แต่หากเป็นจริงก็ถือเป็นภาพสะท้อนว่าคนทำงานสื่อด้วยกันเองก็รู้สึกรับไม่ได้กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย