กทม. 31 ก.ค. – คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี “วรยุทธ อยู่วิทยา” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันพบสารต้องสงสัยในเลือดนายวรยุทธ ตั้งแต่ปี 2555 แต่ที่ไม่แจ้งข้อหาเพราะไม่ชัดเจนที่มา แต่หากมีข้อมูลแน่ชัดสามารถแจ้งข้อหาเพิ่มได้
พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการสูงสุด พร้อมคณะแถลงผลการประชุมนัดที่ 3 หลังจากใช้เวลาประชุมเกือบทั้งวัน ในการประชุมได้เชิญอดีตพนักงานสอบสวนคดีนายวรยุทธมาให้ข้อมูล พร้อมสอบถามรายละเอียดของสำนวน และมีประเด็นสำคัญที่สังคมกำลังเคลือบแคลงสงสัยชี้แจง 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ กรณีสาร “โคเคน” หรือ “โคเคอีน” ในเลือดของนายวรยุทธ จากข้อมูลของอดีตพนักงานสอบสวนชี้แจงว่า แพทย์ได้เจาะเลือดผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ และผลตรวจออกมาวันที่ 11 กันยายน 2555 แพทย์ผู้ตรวจยืนยันสารที่พบในเลือดของนายวรยุทธ เกิดจากกระบวนการสลายตัวของสารที่เกิดจาก “โคเคน” กับ “แอลกอฮอล์” โดยไม่ได้เป็นการตรวจพบสารโคเคนโดยตรงในเลือด และแพทย์ยังตรวจพบสารอีก 4 ชนิด ในเลือดของนายวรยุทธ ประกอบด้วย
1.อัลพาโซแลม
2.Benzoylecgonine
3.Cocaethglene
4.สารคาเฟอีน
โดยสารที่ 1 เป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อาจมาจากยานอนหลับ ส่วนสารที่ 4 คือสารที่พบในกาแฟ จึงไม่ใช่สารที่เป็นปัญหาในคดีนี้
สำหรับสารที่เป็นปัญหาในคดี คือ ชนิดที่ 2 และ 3 ที่มาจากการย่อยสลายโคเคนกับแอลกอฮอล์ ทางการแพทย์ยืนยันว่า สารชนิดที่ 2 Benzoylecgonine เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เกิดได้ในร่างกายคนเมื่อเสพโคเคนและจัดเป็นยาเสพติด ส่วนสารชนิดที่ 3.Cocaethglene ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
พล.ต.อ.ศตวรรษ ระบุว่า ถ้าการตรวจเลือดพบสารชนิดที่ 2 และ 3 ในเลือดเท่ากับมีการเสพโคเคน หรือโคเคอีน แต่ในชั้นสอบสวนเมื่อปี 2555 นายวรยุทธอ้างว่าไปรักษาฟันกับหมอฟัน พนักงานสอบสวนจึงไปสอบปากคำหมอฟัน ซึ่งให้การยืนยันว่ารักษาฟันให้กับผู้ต้องหาจริง แต่ใช้เพียงยาปฏิชีวนะ “อะม็อกซี” ขนาด 500 มิลลิกรัม และไม่มีการใช้ยาเสพติดในการรักษา
อย่างไรก็ตาม สารชนิดที่ 2 และ 3 อาจมาจากยาปฏิชีวนะ หรือเกิดจากการเสพโคเคนของผู้ต้องหา ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ คณะกรรมการจะสอบถามเภสัชกรและผู้เชี่ยวชาญด้านยาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง หากสรุปเป็นสารที่เกิดจากการเสพโคเคน จะประมวลเรื่องเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณาตั้งข้อหาเสพยาเสพติดเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อหา
อุบัติเหตุพยานปากเอกไม่กระทบการตรวจสอบ
ส่วนอีกประเด็น คือ กรณีนายจารุชาติ มาดทอง พยานปากสำคัญในคดีเสียชีวิตกะทันหันที่เชียงใหม่ ยืนยันไม่มีผลต่อการตรวจสอบของกรรมการชุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยืนยันว่านายจารุชาติเป็นพยานที่ขับรถกระบะตามหลังรถคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่พยานใหม่ แต่เป็นพยานที่พนักงานสอบสวนเคยสอบปากคำไว้แล้วเมื่อ 8 กันยายน 2555 และรายงานสอบสวนในครั้งนั้นไม่ได้สอบสวนในประเด็นขับรถเร็วของผู้ต้องหา
ประเด็นความเร็วอัยการเพิ่งมากำหนดให้สอบสวนเมื่อปลายปี 2562 ส่วน พล.อ.ท.จักรกฤษณ์ ถนอมกุลบุตร พยานอีกคน สอบสวนครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2558 ซึ่งสอบสวนหลังจากพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายวรยุทธ ข้อหาขับรถประมาทและออกหมายจับไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเร็วของรถผู้ต้องหาขณะพุ่งชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ที่ยังไม่ชัดเจนและไม่ตรงกันระหว่างผลตรวจของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานกับพยาน 2 ปากนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้เกิดความกระจ่าง ขณะนี้ยังตอบไม่ได้
ลำดับเหตุการณ์รักษาเหงือก “บอส อยู่วิทยา”
ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 เปิดเผยว่า หนึ่งในกรรมการทันตแพทยสภา ได้รับการติดต่อเป็นการส่วนตัวจากทันตแพทย์ที่รักษานายวรยุทธ ยืนยันว่า ไม่ได้ใช้โคเคนในการรักษา ก่อนเกิดอุบัติเหตุ 5 วัน (29 ส.ค.55) ได้รักษาโรคเหงือกให้กับนายวรยุทธ และวันนั้นรักษาตามขั้นตอนรักษาผู้ป่วยทั่วไป ทำความสะอาดช่องปากและฉีดยาชาชนิด “เมพิวาเคน” จากนั้นได้จ่ายยาปฏิชีวนะให้นายวรยุทธ ซึ่งหลังเกิดเหตุเคยเข้าให้ปากคำกับตำรวจแล้ว จึงรู้สึกไม่สบายใจที่ข้อมูลการรักษาถูกนำไปอ้างในคดีและไม่ตรงตามข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าทันตแพทย์คนดังกล่าวพร้อมชี้แจงต่อทันตแพทยสภา แต่ต้องให้เวลารวบรวมข้อมูลก่อน และหากมีคณะกรรมตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็พร้อมประสานทันที แต่ไม่ถึงขั้นต้องตั้งกรรมการสอบ เนื่องจากไม่ได้มีผู้ร้องเรียนถึงการทำหน้าที่
อุปนายกทันตแพทยสภา ระบุด้วยว่า ในต่างประเทศเคยเกิดคดีที่พบโคเคนในผู้ต้องหาและอ้างว่าเกิดจากการทำฟัน แต่ภายหลังมีการตรวจสอบข้อมูลทางวิชาการ พบว่าไม่เป็นความจริง และในไทยคดีของนายวรยุทธฯ ถือเป็นคดีแรกที่มีการอ้างถึงการใช้โคเคนจากการทำฟัน
คณะกรรมการชุด “อัยการสูงสุด” ประชุมต่อวันที่ 4
สำหรับการตรวจสอบคู่ขนานของคณะทำงานสำนักงานอัยการสูงสุด ประชุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 เพื่อพิจารณาเหตุไม่สั่งฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา” นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า การประชุมคืบหน้าไปมาก แต่ยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะสรุปความเห็นได้ภายในกรอบระยะเวลา 7 วัน
สำนักข่าวไทยรวบรวมภาพรวมของการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ 3 หน่วยงานหลัก (ไม่รวมของ กมธ.ต่างๆ ที่คอยศึกษาและตรวจสอบ) ประกอบด้วย คณะกรรมการชุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ตรวจสอบตั้งแต่ต้นธารกระบวนการยุติธรรม คือ การดำเนินงานของพนักงานสอบสวน คณะทำงานชุดของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ตรวจสอบการทำงานของอัยการ และเหตุผลถึงการไม่สั่งฟ้องในคดี และคณะสุดท้าย คือ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งขึ้น ซึ่งมีนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ล่าสุดมีการนัดหมายประชุมกันนัดแรกในวันที่จันทร์ที่ 3 สิงหาคมนี้ เวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะนี้จะรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบในภาพกว้างเพื่อเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติ
“วิษณุ” ไม่ตอบผลสอบคดีจะเปลี่ยนแปลงผลคดีได้หรือไม่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบชุดนายวิชา มหาคุณ มีกรอบดำเนินงาน 30 วัน โดยทราบมาว่าจะมีการประชุมทุกวัน และสามารถเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูลได้ โดยหน้าที่หลักคือสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ความเป็นมาของคดี และพฤติกรรมบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ไปแทรกแซงดุลยพินิจ หากพบจุดอ่อนในประเด็นใดต้องแจ้งรัฐบาล พร้อมกับจัดทำบทเรียนและข้อแนะนำว่าควรปรับแก้ในส่วนใด เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นปัญหาในอนาคต. – สำนักข่าวไทย